ลุ้น “น่าน – สุพรรณบุรี” ไปยูเนสโก ชิงรางวัลเมืองสร้างสรรค์โลก

30 มี.ค. 2565 | 21:25 น.

อพท. เตรียมเสนอจังหวัดน่าน – สุพรรณบุรี ชิงรางวัลเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก รอบใหม่ จากยูเนสโก หลังจากดันเพชรบุรี จนสำเร็จแล้ว โดยหวังผลักดันให้ได้ในปี 2566

น.อ.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565-2566 อพท.เตรียมเสนอจังหวัดน่าน และสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. ต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN) ของโลกรอบใหม่

 

สำหรับการเสนอทั้ง 2 จังหวัดเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ต่อยูเนสโก แยกเป็นดังนี้

 

จังหวัดน่าน

 

อพท.จะเสนอเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์โลกด้านหัตถกรรม เนื่องจากมีหลายชุมชนที่ทำผ้าฝ้ายลายท้องถิ่น สามารถนำมาพัฒนา ดัดแปลง ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดเป็นแฟชั่นชุดไทย หรือชุดผ้าไทยร่วมสมัยขึ้นมาได้อย่างหลากหลาย

 

จังหวัดสุพรรณบุรี

 

อพท.จะเสนอเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์โลกด้านดนตรี เพราะสุพรรณบุรีที่มีความโดดเด่นในเรื่องดนตรีอยู่ในสายเลือดสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งเพลงฉ่อย ลำตัด หรืออีแซว อีกทั้งยังมีศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่ในจังหวัดหลายคน

 

แต่ที่สำคัญคือ จะต้องหาทางสร้างบรรยากาศของทั้งเมืองให้มีกลิ่นอายของเมืองดนตรีจริงๆ ทั้งร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว การจัดกิจกรรม หรือการสนับสนุนการตั้งสถาบันการศึกษา หรืออะคาเดมี่ในด้านดนตรีขึ้นมาเป็นการเฉพาะ 

“ในปี 2565 อพท.จะต้องจับจังหวัดน่านและสุพรรณบุรีแต่งตัวใหม่อีกที เพื่อให้ได้รับการพิจารณาเป็นเมืองสร้างสรรค์โลกในปี 2566 หลังจากในปี 2564 อพท.ได้เสนอ จังหวัดน่าน สุพรรณบุรี เชียงราย และเพชรบุรี ไปแล้ว แต่ยูเนสโกได้ประกาศให้เพชรบุรี เป็นเมืองเดียวเท่านั้นที่ได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก หรือ Creative Cities ซึ่งจะต้องเสนอชิงในระดับประเทศก่อนจากนั้นจึงเป็นตัวแทนระดับประเทศไปชิงบนเวทียูเนสโก” น.อ.อธิคุณ ระบุ

 

น.อ.อธิคุณ คงมี

 

สำหรับปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโก ให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของโลก ไปแล้ว 5 จังหวัด คือ  จังหวัดภูเก็ต (2558) จังหวัดเชียงใหม่ (2560) จังหวัดสุโขทัย กรุงเทพมหานคร (2562) และจังหวัดเพชรบุรี (2564)

สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะคนในพื้นที่จะได้รับนอกจากเมืองได้รับการพัฒนาตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด ครอบคลุมสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ยังได้เรื่องของการประชาสัมพันธ์เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ มีโอกาสได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดงานหรือจัดประชุมของกลุ่มประเทศเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์

 

โดยในปัจจุบันมีจำนวนเมืองต่าง ๆ ถึง 295 เมืองจากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเมืองสมาชิก นำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21