วอนรัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า เสี่ยงของขาด-ของแพง เข้าทาง “ตลาดมืด”

28 มี.ค. 2565 | 05:19 น.

อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง รัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า คนไทยเสี่ยงของขาด-ของแพง ใจความสำคัญ ดังนี้

 

วิกฤตการรุกรานของรัสเซียในยูเครน กำลังกลายเป็นชนวนสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ที่หลายประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรปซึ่งต้องพึ่งหาวัตถุดิบในการผลิตอาหารจากทั้งสองประเทศ ประกาศมาตรการจำกัดหรือห้ามส่งออกธัญพืช สินค้าอาหารอื่นและสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อสร้างหลักประกันอาหารมั่นคงของพลเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าทั่วโลกกำลังกักตุนอาหาร และผลกระทบจากการกักตุนจะแพร่กระจายไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงราคาอาหารจะแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

วอนรัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า เสี่ยงของขาด-ของแพง เข้าทาง “ตลาดมืด”

 

ชั่วโมงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการวัดใจภาครัฐ และวัดความแข็งแกร่งและความอึดของภาคการผลิตและภาคเกษตรกร ซึ่งแต่ละภาคมีภาระที่แบกอยู่แตกต่างกัน ภาครัฐแบกภาระเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศต้องคุมภาวะเงินเฟ้อไม่สูงเกินไป มาตรการสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ คือ การคุมหรือตรึงราคาสินค้าไว้ให้นานที่สุด

 

ขณะที่ภาคการผลิตก็ต้องอั้นและอึดที่สุดเท่าที่จะทำได้กับต้นทุนการผลิตที่ดีดตัวแรงสุด ๆ เป็นประวัติการณ์ เนื่องจากวิกฤตความรุนแรงระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบหลายรายการและราคาพลังงาน ส่วนภาคการเกษตรต้องออกแรงต้าน ทำอะไรก็ได้ไม่ให้รัฐนำเข้าวัตถุดิบมาทดแทนส่วนที่ขาดแคลนในประเทศเพื่อรักษาระดับราคาให้สูงไว้

 

วอนรัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า เสี่ยงของขาด-ของแพง เข้าทาง “ตลาดมืด”

 

เมื่อผลประโยชน์ของแต่ละภาคมีช่องว่างแตกต่างกัน คนตัดสินใจคือคนที่มีอำนาจสูงสุด คือ ภาครัฐ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือคนที่อ่อนแอที่สุด คือ เกษตรกร ส่วนคนที่อยู่ตรงกลางดูเหมือนเป็นคนที่แข็งแรงที่สุดต้องเฉือนเนื้อ คือ ภาคการผลิต ตรรกะนี้เป็นความจริงซึ่งต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน เพราะจากปัจจัยหลายด้านโดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่พุ่งเป็นจรวดในขณะนี้ ภาคการผลิตเป็นภาคที่บาดเจ็บ บางอุตสาหกรรมเรียกได้ว่าสาหัส เพราะได้รับผลกระทบ 2 เด้ง จากผลของสงครามจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน  

 

วอนรัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า เสี่ยงของขาด-ของแพง เข้าทาง “ตลาดมืด”

 

แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในเมืองอู่ข้าวอู่น้ำในเอเชีย ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงวิกฤตซ้อนวิกฤตในครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะภาคการผลิตอาหารและภาคปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 100% จากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นแบบไม่สามารถควบคุมได้ วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง ปรับขึ้นเฉลี่ย 30%

 

วอนรัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า เสี่ยงของขาด-ของแพง เข้าทาง “ตลาดมืด”

 

ขณะที่ยูเครนประกาศห้ามส่งออกสินค้าธัญพืชทั้งหมดเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระหว่างสงคราม การกักตุนหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศผู้ผลิตอาหารจะยิ่งทำให้ราคาอาหารและความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกวิกฤตและมีราคาสูงขึ้น

 

รัฐบาลประเทศอื่น ๆ ตื่นตัว ประกาศมาตรการจำกัดหรือห้ามส่งออกสินค้าและพืชเกษตรสำคัญ และพิจารณาให้ผู้ผลิตปรับราคาสินค้าได้ตามต้นทุนการผลิตอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม เพื่อให้ภาคการผลิตอยู่ได้ประชาชนมีสินค้าอุปโภค-บริโภคไม่ขาดแคลน

 

รัฐบาลไทยนำโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน แลกกับการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3:1)เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ โดยกำหนดให้นำเข้าให้แล้วเสร็จภายใน 31 กรกฎาคม 2565

 

วอนรัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า เสี่ยงของขาด-ของแพง เข้าทาง “ตลาดมืด”

 

แต่ถึงขณะนี้ทั้งสองกระทรวงยังพิจารณาโครงสร้างต้นทุนและปริมาณนำเข้าที่เหมาะสมยังไม่แล้วเสร็จ ความล่าช้านี้จะส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ในอนาคตอันใกล้ เกษตรกรอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงทั้งต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบขาดแคลน อาจทำให้ตัดสินใจชะลอหรือหยุดการผลิตชั่วคราว ซึ่งจะทำให้สินค้าหายไปจากตลาดและราคาแพง

 

ภาครัฐต้องการ “ซื้อเวลา” ตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุดด้วยเหตุหลักคือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนและคุมเงินเฟ้อให้อยู่ แต่ในสถานการณ์วิกฤตซ้ำซ้อนเช่นขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องผ่อนปรนนโยบายตรึงราคาและพิจารณาให้สินค้าจำเป็นปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุน ไม่ควรปล่อยให้ผู้ผลิตกัดฟันอดทนกันหน้าดำหน้าแดงกับต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบสำคัญบางรายการขาดตลาด หายากและราคาสูง จนไม่อยากเดินหน้าธุรกิจ

 

เมื่อนั้นความ “ปั่นป่วน” กำลังคืบคลานมาสู่เศรษฐกิจประเทศไทยและผู้บริโภค เมื่อซัพพลายหายไปจากตลาดขณะที่ความต้องยังคงเดิม ราคาสินค้าจะปรับสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งสินค้าหายไปจากตลาดมากจนถึงหายากและขาดแคลนจะทำให้เกิด “ตลาดมืด” สินค้านั้น ๆ และยิ่งเป็นสินค้าจำเป็นราคาจะเทียบได้กับทองคำ ทั้งที่สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่ข้าวยากหมากแพง แต่เป็นเพียงสถานการณ์ผิดปกติชั่วคราวเท่านั้น

 

วอนรัฐ "อย่าซื้อเวลา" ปรับราคาสินค้า เสี่ยงของขาด-ของแพง เข้าทาง “ตลาดมืด”

 

หากภาครัฐพิจารณาหลักการทางเศรษฐศาสตร์ต้นทุนการ ความต้องการตลาด และปริมาณผลิต มาเป็นตัวตั้ง และพิจารณาปัจจัยการผลิตแวดล้อมเช่นวัตถุดิบในการผลิต มาเป็นตัวแปร และบริหารจัดการด้วยกลไกการตลาด เพื่อถ่วงดุลต้นทุนกับราคาสินค้าให้เหมาะสม สินค้าก็จะมีเพียงพอต่อการบริโภค เพราะผู้ผลิตไม่ขาดทุน ระบบการผลิต การตลาด และการบริโภค จะทำงานสอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องแทรกแซงให้เกิดภาระกับคนใดคนหนึ่ง

 

ขอเพียงภาครัฐกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอผ่อนบ้างดึงบ้างให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างแท้จริง