“สต๊อกจีน” วูบเร่งนำเข้า “สวนยาง” เฮ คาด ไตรมาส 2 ราคา 65 บาทต่อกิโลกรัม

26 มี.ค. 2565 | 08:13 น.

กยท.ประเมิน “ยางพารา” ไตรมาส 2 ฝ่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคายังทรงตัวอยู่ระดับ 63-65 บาทต่อกิโลฯ อานิสงส์สต๊อกจีนน้อย โควิดคลาย ยอดขายรถยนต์พุ่งสูงสุดในรอบ 8 เดือน สมาคมน้ำยางข้นระบุปีนี้ ชาวสวนกรีดยางฝ่าแล้ง หลังราคาจูงใจ ลานีญาช่วยฝนตกเร็ว

นับตั้งแต่ ประธานา ธิบดี วลาดิเมียร์ปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาล่วงเลยมา 1 เดือนแล้ว สงครามยังยืดเยื้อ การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ และยังไม่รู้ว่าศึกครั้งนี้จะยาวนานไปอีกเท่าใด ทั้งนี้ “ยางพารา” เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ และเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย มีเกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องกว่า 1.7 ล้านครัวเรือน และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมายจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างนั้น

 

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ราคายางพาราช่วงไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) คาดราคายังทรงตัวอยู่ในช่วง 63-65 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งถืออยู่ในแนวบวก ทั้งนี้ทุกอย่างยังตอบอะไรชัดเจนไม่ได้มากนัก เพราะปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะจบลงอย่างไร และเมื่อใด ดังนั้นคงทำได้แค่พยายามประคองเอาไว้ให้ได้

 

อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์

 

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวว่า ราคายางพาราเวลานี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อย จากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูปิดกรีดของเกษตรกรช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความต้องการสินค้าในการส่งมอบ และตลาดยังได้รับแรงสนับหนุนจากจีนจะใช้นโยบายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ในจีนลดลง ส่งผลให้มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ให้โรงงานต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง

ยางรถยนต์

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากยอดขายรถยนต์ของจีนในเดือน ก.พ.2565 พุ่งขึ้น 18.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยแตะที่ระดับ 1.74 ล้านคัน โดยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากลดลง 8 เดือนติดต่อก่อนหน้านี้ โดยยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด และรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน พุ่งขึ้น 197.5% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 368,000 คัน

 

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูง หลังสำนักงานพลังงานสากล (EA) ระบุในรายงานว่า อุปทานน้ำมันดิบจากรัสเชียจะลดลงกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า ซึ่งลดลงมากกว่าความต้องการใช้น้ำมันที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น  ซึ่งสำนักงานพลังงานสากลคาดว่า แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ จะยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน

 

ปริมาณสต๊อกยางไตรมาสแรก ปี 2565

ส่งผลให้ทั่วโลกจะขาดแคลนอุปทาน 7 แสนบาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่สอง ส่วนเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไร หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สอด คล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกรอบ 0.25-0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องใน 6 รอบการประชุมที่เหลือของปีนี้

 

“ตลาดยังคงติดตามวิกฤติยูเครนอย่างใกล้ชิดรวมถึงปัจจัยต่างๆ ข้างต้นอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อความต้องการและราคายางพารา อย่างไรก็ดีราคายางในเดือนเมษายนคาดจะย่อตัวลงมา จากการปรับฐานจากการเทขายเพื่อเก็งกำไร โดยมีปัจจัยพื้นฐานมาจากผลกระทบของสงคราม โดยยังมองว่าราคาสามารถไต่ระดับปรับตัวขึ้นต่อได้ในเดือนเมษายน นอกจากนี้สต๊อกโดยภาพรวมของผู้นำเข้าสำคัญ เช่นจีน ญี่ปุ่นยังมีน้อย (กราฟิกประกอบ) บวกกับผลผลิตที่ออกมาช่วงนี้ไม่มากจึงไม่น่ามีปัญหาเรื่องราคา”

 

วรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า ปีนี้ประเมินแล้ว เกษตรกรจะมีการกรีดยางฝ่าแล้ง เพราะราคาดี เกษตรกรคงไม่หยุด ขณะที่ปีนี้ฝนมาเร็ว ส่วนทางภาคใต้จากใบยางที่ร่วงช่วงฤดูแล้ง ขณะนี้ใบยางเริ่มเขียวแล้ว ปีนี้อาจจะเปิดกรีดเร็ว จากปรากฏการณ์ลานีญา ดึงฝนมาเร็วผิดปกติ คาดการณ์แนวโน้มราคายางไม่น่าลง จากซัพพลายมีน้อย หากย้อนดูในประวัติศาสตร์ราคาจะปรับขึ้นไปตามราคาน้ำมัน แต่เที่ยวนี้อาจจะผิดปกติจากราคาน้ำมันปรับขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3769 วันที่  27 -30 มีนาคม 2565