กู้อีก1.5ล้านล. ฟื้นเศรษฐกิจ 3อดีตขุนคลังชี้ทางออกปลุกลงทุน-สร้างรายได้

26 มี.ค. 2565 | 06:13 น.

 รัฐมนตรีคลังจี้รัฐอัดฉีดรอบใหม่ กู้ 1.5 ล้านล้าน ฟื้นงานสร้างรายได้ “ทนง” แนะยุทธศาสตร์ซัพพลายไซด์ ปลุกเชื่อมั่นฝ่า“วิกฤตเชิงซ้อน” กรณ์จี้รัฐประกาศ “นิวกรีนดีล” ตั้งกองทุนรีบูทหนุนกลับเปิดกิจการใหม่ “อุตตม” หนุนกู้ใหม่-เกลี่ยงบฯ หันฟื้นอีอีซีเคลื่อนลงทุน

นายทนง พิทยะ นายกรณ์ จาติกนิช และนายอุตตม สาวนายน 3 อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่เคยบริหารดูแลการพลิกฟื้นประเทศ จากวิกฤติเศรษฐกิจช่วงต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติแฮมเบอเกอร์ และล่าสุดวิกฤติโควิด-19 ร่วมสนทนารายการ “The Big Issue 2022 : ฝ่าไฟสงคราม รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ” จัดโดย ฐานดิจิทัล และกรุงเทพธุรกิจ ต่างเห็นว่า โลกหลังโควิด-19 และศึกรัสเซีย-ยูเครน เปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก เกิดการทบทวนระเบียบโลกใหม่

 

ทั้งยังซ้ำเติมไทยเจอของแพง เงินเฟ้อพุ่ง ขณะที่สูญเสียงาน รายได้ถดถอย ไม่เห็นโอกาสในอนาคต จนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เสนอรัฐโดยออกพ.ร.ก. 1-1.5 ล้านล้านบาท รอบใหม่ แม้ว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะกู้ไปแล้ว 5.7 ล้านล้านบาท ในช่วง 8 ปีที่เข้ามาบริหารประเทศ ต่างหนุนกลับมาเปิดกิจการฟื้นงานสร้างรายได้ฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

 กู้อีก1.5ล้านล. ฟื้นเศรษฐกิจ 3อดีตขุนคลังชี้ทางออกปลุกลงทุน-สร้างรายได้

อัดฉีด 1.5 ล้านล้าน
 นายทนง พิทยะ กล่าวว่า วิกฤติรอบนี้กระทบคนจนเป็นผู้แบกรับภาระ ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่กระทบสถาบันการเงินและคนรวย ที่แบกรับภาระจากการลดค่าเงินบาท ซึ่งหลังจากปรับปรุงสถาบันการเงินได้ก็กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่คราวนี้ผู้คนซึมเศร้า เพราะคนสูญเสียงานขาดรายได้ จากล็อกดาวน์คุมการระบาด แม้รัฐจะช่วยเยียวยาบ้างก็เพียงส่วนน้อย กำลังซื้อหดหาย ธุรกิจก็ซบเซาตาม การลงทุนก็ไม่เกิด เพราะกำลังการผลิตยังเหลือ ทั้งระบบเศรษฐกิจทั้งการบริโภคถดถอย จีดีพีก็ไม่โตอย่างที่ควรจะเป็น

 


 “เราอยู่ในสภาพซึมเศร้า การแจกเงินเหมือนยาแก้เครียดบรรเทาอาการเป็นพักๆ การจะฟื้นประเทศไทยไม่ได้ใช้เงินเยอะมากเหมือนกู้วิกฤติต้มยำกุ้ง เพียงลงทุนปรับโครงสร้างให้คนเข้าสู่อาชีพ สร้างรายได้ ทำอย่างไรให้กิจการต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ยกระดับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ภาคบริการ การท่องเที่ยว ที่เป็นจุดแข็งของไทย เพิ่มผลผลิตทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลด สร้างความสามารถการแข่งขัน ตราบใดความสามารถการบริโภคไม่ขึ้น อย่าห่วงเรื่องเงินเฟ้อ เพราะตอนนี้เกิดจากต้นทุนดัน”

นายทนงชี้อีกว่า ไทยต้องใช้จุดแข็งคือมีทุนสำรองแถวหน้าของโลก มีความมั่นคงสูง รัฐมีความสามารถกู้ได้ในต้นทุนต่ำ ควรใช้อีก 1-1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเร่งสปีดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้รวดเร็ว โดยเฉพาะเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาในปีนี้ รองรับอุตสาหกรรมที่หดตัวลงไป รองรับเอสเอ็มอี  ซึ่งต้องการเพิ่มความสามารถในการลงทุน ในการเพิ่มการผลิต มันต้องไปอย่างรวดเร็วพร้อมๆกัน ให้คนเริ่มมีงานทำ และเพิ่มความสามารถในการบริโภคให้ได้

 

“แต่การอัดฉีดครั้งนี้อย่าไปแจก แต่ต้องให้ทำงานแลกเงิน เป็นนโยบายSupply Side เช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีเรแกนทำในอดีต"

 

ขณะที่ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ภูมิรัฐศาสตร์โลกปรับตัว เกิดการแบ่งขั้วเป็นอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป 
และเอเซีย ซึ่งท่าทีของไทยในเรื่องนี้ทำได้ดี เป็นท่าทีภายใต้อาเซียน แม้ว่าแต่ละชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองจะมีจุดยืนแตกต่างกันไป แต่เราไม่ควรออกนโยบายเฉพาะของตัวเอง ในด้านเศรษฐกิจถัดจากนี้ไปต้องใช้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ซึ่งมี 10 ชาติอาเซียน บวกกับเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  มีประชากรและขนาดเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของโลก โดยเข้าร่วมภายใต้ร่มของอาเซียน  

 

ปรับโครงสร้างประเทศ

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการเดียวกัน ว่า วิถีปกติใหม่จากนี้ไปจะเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มากกว่าจากโควิด-19 ที่เริ่มกลับสู่ปกติเดิมมากกว่า โดยวิถีีปกติใหม่จากนี้จะมีทั้งการถอยห่างจากโลกาภิวัตน์ที่เป็นกรอบระเบียบโลกมาหลายสิบปี แต่ละประเทศหันกลับไปดูความเสี่ยงและพึ่งตัวเองมากขึ้น กระทั่งทุนสำรองก็ไม่อาจวางใจฝากไว้กับต่างชาติได้อีก

 

ยังมีเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน ผลจากสงครามยูเครน ต่อไปต้องทบทวนแผนพลังงานใหม่ทั้งโลกรวมประเทศไทย หรือเรื่องอาหารทุกประเทศต้องให้ความสำคัญการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพิ่ม ลดการพึ่งพาภายนอก รวมถึงปัจจัยต่อเนื่อง เช่นปุ๋ยสำหรับภาคเกษตร จะจัดหามาอย่างไร        
 รวมทั้ง โลกหลังโควิด-19 และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จะเกิดการจับกลุ่มแบ่งฝ่าย ท่าทีของไทยที่เป็นมิตรกับทุกคนเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว และทุกประเทศต้องปรับตัวสู่ปกติใหม่ เกิดการทบทวนนโยบายต่าง ๆ ลดความเสี่ยงจากปรากฏการณ์แบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกาภิวัตน์ ความมั่นคงทางพลังงาน-อาหาร ห่วงโซ่การผลิตแต่ละอุตสาหกรรม หากไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเปิดรับทุกฝ่าย จะเป็นโอกาสในโลกยุคใหม่

 

 พร้อมเสนอว่า ขณะที่ประ เทศไทยในระดับมหภาคยังเข้มแข็ง มีทุนสำรองสูงระดับต้นของโลก งบรายจ่ายปี 2566 ตั้งงบชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเพียง 9% ซึ่งค่อนข้างต่ำ ทั้งที่ตั้งเกณฑ์ภาระส่วนนี้ไว้ที่ไม่เกิน 15% ขณะที่ประชาชนและเอกชนแบกหนี้ ไม่สามารถกู้ได้ เวลานี้ภาครัฐยังเข้มแข็งมากที่สุด และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องกู้เงินส่วนนี้มาสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการฟื้นฟูและสร้างโอกาส เวลานี้ต้องทำให้ประชาชนได้ทำมาหากิน ไม่ใช่ด้วยการแจกเงินใส่มือเหมือนช่วงเยียวยาตอนโควิดระบาด

 

นายกรณ์กล่าวอีกว่า นอกจากเติมเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจแล้ว รัฐต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี ต้องทำให้เกิดความคึกคักของการทำมาค้าขายการทำธุรกิจกลับคืนมา โดยการใช้เงินต้องมีแผนงานดี สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา อาทิเช่น ประกาศแผน New Green Deal ปรับโครงสร้างกลไกให้มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าให้มีเป้าหมายชัดเจน มีแผนงานสู่เป้าหมายอย่างเป็นขั้นตอน โดยรัฐพร้อมร่วมลงทุนกับเอกชนในทุกโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์นี้ เป็นต้น

 

ตั้งกองทุนรีบูทฟื้นแหล่งงาน

ส่วนการสนับสนุนให้คนกลับมาเริ่มต้นใหม่นั้น หัวหน้าพรรคกล้าเสนอว่า ให้รัฐบาลออกพันธบัตร นำเงินมาตั้งกองทุนรีบูท ธุรกิจโรงแรมนับพันแห่งที่ปิดตัวไปเป็นปี เวลานี้จะกลับมาเปิดกิจการใหม่ก็ไม่มีทุน หากมีกองทุนนี้สามารถเอาหุ้นกิจการมาขายฝากกับกองทุน เอาเงินทุนไปฟื้นกิจการ เจ้าของเดิมมีสิทธิบริหาร อาจกำหนดเวลา 5 ปีมีสิทธิซื้อหุ้นคืนจากกองทุนกลับไป ระหว่างนี้อาจปลอดดอกเบี้ย แต่กองทุนฯได้เงินปันผลตอบแทนหากกิจการทำกำไร หากเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้กองทุนก็ไม่เสียหายอะไร ตอนนี้ต้องเพิ่มทุนไม่ใช่เพิ่มหนี้ เพราะรายเล็กรายน้อยแบกหนี้หลังแอ่นอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คือให้โอกาสทุกคนได้กลับมาเริ่มต้นใหม่

 

นอกจากนี้เสนอนโยบายฟื้นประเทศหลังวิกฤติอย่างเป็นรูปธรรมว่า กรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นตัวอย่างนวัตกรรมทางนโยบายที่ดี ในการทดลองแนวคิดที่ยังเป็นข้อถกเถียงหรืออ่อนไหว โดยเปิดให้พื้นที่ที่พร้อมจะทดลองข้อเสนอนั้นๆ เป็นการนำร่อง
 

โดยบางเรื่องอาจขยายจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เพิ่มเติม เช่น การเป็นดิจิทัลฮับ อาจทดลองเพิ่มความสะดวกและสิ่งจูงใจดึงกลุ่มดิจิทัล นอแมด ที่ชำนาญการทำมาหากินบนออนไลน์ เข้ามา โดยอาจทดลองเปิดเสรีวีซ่า หรือแซนด์บ็อกซ์ธุรกิจกาสิโนถูกกฎหมาย การให้สิทธิต่างด้าวซื้อที่ดิน หรือพื้นที่ใดมีทรัพยากรที่อยากทดลองเรื่องไหน ให้มีช่องทางโดยอาจออกเป็นกฎหมาย เปิดทางให้ทดลองนำร่องได้ โดยทำประชามติถามความเห็นคนในพื้นที่ก่อน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือความกล้าอย่างมีเหตุผล

 

ขับเคลื่อนอีอีซี.ดึงลงทุน
นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เจอวิกฤติเชิงซ้อนทำให้แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งรัฐต้องทำ 2 มิติ คือเยียวยาเศรษฐกิจ และกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งในอนาคตไปพร้อมกัน ไม่มีเวลามารอดูสถานการณ์ เพราะเดิมทีไม่มีวิกฤติสงครามเศรษฐกิจไทยก็น่าห่วงอยู่ก่อนแล้ว จากโควิดที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด อย่างไรก็ตามน่าจะมีทางออก ส่วนเรื่อง พ.ร.ก. กู้ก้อนใหม่ ขึ้นอยู่กับกู้มาทำอะไร

 

“ผมเห็นตรงกับอดีตรัฐมนตรีการคลังหลายท่านว่ายังมีช่องว่างทำได้ หากตอบคำถามประชาชนได้ ว่าเงินดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อย่างไรได้ ก็ไม่ใช่ปัญหา หรือ เป็นเรื่องติดขัดที่ทำไม่ได้”

 

นายอุตตม ยังระบุว่า สิ่งที่ทำได้ก่อนคือการพิจารณางบประมาณรายจ่ายเสียใหม่ ทั้ง ปี 2565 ที่ถูกเบิกจ่ายแล้ว และส่วนของงบประมาณปี 2566 ที่อยู่ระหว่างพิจารณา โดยรัฐบาลควรเร่งทบทวนเพื่อปรับเกลี่ย เขย่าใหม่ให้เหมาะสม โดยเฉพาะให้เพียงพอต่อภาคการจ่ายใช้การลงทุนอย่างเหมาะสม และทำให้รู้ตัวเลขจริงการต้องออกพ.ร.ก.กู้ใหม่ด้วยว่าควรต้องใช้เท่าไหร่ เพื่อกระชากเศรษฐกิจไทยที่ติดหล่ม

 

ส่วนโครงการอีอีซีที่ล่าช้าในช่วงโควิด-19 นายอุตตม ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการนี้ กล่าวว่า อีอีซีเดิมเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต ทั้งด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รวมถึงการพัฒนาเมืองใหม่ ไปสู่ฮับสำคัญของโลก ซึ่งวันนี้ตนยังเชื่อมั่นในศักยภาพของอีอีซี แม้หลายอย่างชะงัก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ถูกมองเป็นหนึ่งในความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลปล่อยทิ้งร้างไม่พัฒนาต่อ ทั้งๆ ที่มีผู้ประกอบการบางส่วนทยอยเข้ามาแล้ว ปักหลักปรับสภาพแวดล้อมต่อยอดทางธุรกิจหลายอย่างแล้ว เหลือเพียงการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้เสร็จสมบูรณ์ตามแผน ที่รัฐบาลควรจะต้องผลักดันต่อ หาไม่จะกระทบความเชื่อมั่นของต่างประเทศในระยะต่อไปแน่นอน

แนะทางออกวิกฤติน้ำมัน 
 นายอุตตม กล่าวด้วยว่า วิกฤติยูเครนส่งผลราคาน้ำมันตลาดโลกให้พุ่งสูง กระทบทุกภาคส่วน ซึ่งมีสัญญาณน้ำมันขาขึ้นตั้งแต่ก่อนสงคราม รัฐควรต้อง 1. ดูแลเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ประกอบการต้นทาง เพื่อลดทอนความเดือดร้อนของประชาชน และ 2.ในระยะยาว เห็นควรที่ประเทศไทย ต้องเร่งทบทวนโครงสร้างการใช้พลังงานทั้งหมด เช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันยังใช้หลักการอ้างอิงกับประเทศสิงคโปร์ (ราคา ณ โรงกลั่น) และบวกเพิ่มด้วยค่าขนส่ง โดยเป็นสูตรการคำนวณราคาน้ำมันที่ใช้มานานนับสิบปี

 

“ขณะวันนี้ประเทศชาติเกิดวิกฤติ อีกทั้ง ปัจจุบันไทยมีกำลังกลั่นเป็นของตัวเอง ต่างจากในอดีต เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องทบทวนโครงสร้างเกณฑ์การคำนวณน้ำมัน เพราะเรากลั่นได้เอง โดยเอาประโยชน์ของประชาชนตั้ง ทดลองใช้เป็นระยะ 3 เดือน”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,769 วันที่ 27-30 มีนาคม พ.ศ.2565