รัฐปล่อยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ล่าช้า หายนะภาคปศุสัตว์

22 มี.ค. 2565 | 12:31 น.

สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการภาคปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง รัฐปล่อยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ล่าช้า “เกาไม่ถูกที่คัน” หายนะภาคปศุสัตว์ ความว่า

 

หลังกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ สุกร และไก่ไข่ และตัวแทนเกษตรกรด้านการเพาะปลูกร่วมประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต้นการผลิตสูงขึ้นทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยกระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงไขตามมติที่ประชุมให้ยกเลิกมาตรการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ข้าวสาลี 3:1 เป็นการชั่วคราว ให้นำเข้าข้าวสาลีได้เสรี และต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เหมือนจะเป็นข่าวดีให้ภาคปศุสัตว์

 

รัฐปล่อยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ล่าช้า หายนะภาคปศุสัตว์

 

ตามถ้อยแถลงดังกล่าว ผู้ผลิตอาหารสัตว์หรือผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มีข้อจำกัดถึง 3 ด่าน จึงจะได้มาซึ่งวัตถุดิบข้าวสาลีมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าราคาแพงและขาดแคลน คือ 1.การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ โดยทั้ง 2 กระทรวง ต้องใช้เวลาหารือกันในรายละเอียดกำหนดข้อปฏิบัติในการนำเข้าร่วมกัน หมายความว่า ยังนำเข้าไม่ได้ทันที 2.ปริมาณนำเข้าต้องอยู่ภายใต้โควตาที่รัฐจะกำหนด

 

และ 3. ต้องนำเข้าภายในระยะเวลาที่จำกัด เพื่อปกป้องผลผลิตข้าวโพดในประเทศไม่ให้ราคาตกต่ำ ที่สำคัญวัตถุดิบดังกล่าวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งลาว กัมพูชาและเมียนมาเวลานี้ไม่มีผลผลิตเหลือเพราะขายกันหมดแล้ว แหล่งนำเข้าที่ใกล้ที่สุดเท่าที่จะนำเข้าได้ตอนนี้ คือ อินเดีย ซึ่งต้องใช้เวลาขนส่งประมาณ 15 วัน

 

รัฐปล่อยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ล่าช้า หายนะภาคปศุสัตว์

 

นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลได้ข้อยุติเงื่อนไขการนำเข้าภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ การนำเข้าล็อตแรกจะมาถึงเมืองไทยประมาณกลางเดือนเมษายน 2565 หรือล่าช้ากว่านั้น แปลว่ามีเวลานำเข้าจำกัดประมาณ 3 เดือนเท่านั้น

 

ถ้าวิพากษ์แบบตรงไปตรงมาก เรียกได้ว่า "too late too little" คือ มาตรการนำเข้าเสรีมาช้าไป เอาแบบตรงประเด็น คือ ไม่เกิดประโยชน์อะไร (useless) ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐรู้ปัญหามาโดยตลอด แต่ไม่มีกลไกจัดการที่ชัดเจนและเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตการผลิตของภาคปศุสัตว์ เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย และในทางการเมืองเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงสำคัญมาโดยตลอด รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจำเป็นต้องระมัดระวังในการประกาศมาตรการแทรกแซง

 

รัฐปล่อยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ล่าช้า หายนะภาคปศุสัตว์

 

การควบคุมราคาทั้งห่วงโซ่การผลิตปศุสัตว์ ตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ ราคาอาหารสัตว์ และราคาเนื้อสัตว์ เป็นการกดราคาสินค้าให้ต่ำเพื่อวัตถุประสงค์สนับสนุนการบริโภค ควบคุมภาวะเงินเฟ้อของประเทศไม่ให้สูงเกินไป และส่งเสริมเกษตรกรบางกลุ่ม ทั้งที่เป็นต้นทุนวัตถุดิบการผลิตสินค้า ต้นทุนพลังงาน การขนส่งและการบริการพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย รายงานว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 30% รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์ป้องกันโรคสัตว์และเวชภัณฑ์ ก็ปรับราคาสูงขึ้นอัตราเดียวกัน แต่ราคาปลายทางปรับไม่ได้ และอาจเป็นเหตุผลทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์หยุดการผลิต หรือชะลอการผลิตเพราะไม่ต้องการเสี่ยงกับการขาดทุน ซึ่งอาจจะทำให้สินค้าหายไปจากตลาดได้

 

นางฉวีวรรณ  คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า แม้ภาครัฐยกเลิกมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ ที่ผ่านมาสมาคมฯ ในฐานะตัวแทนเกษตรกรเรียกร้องไปยังภาครัฐให้พิจารณานำกลไกการตลาดมาใช้แทนมาตรการควบคุมราคา เพื่อให้ราคาปรับขึ้นลงอย่างสมดุลตลอดห่วงโซ่การผลิตตามหลักการอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) จึงควรยกเลิกการคุมราคาเนื้อสัตว์ตามกลไกตลาด โดยภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล

 

รัฐปล่อยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ล่าช้า หายนะภาคปศุสัตว์

 

ส่วนนายมาโนช  ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนไข่ไก่ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 2.94 บาท/ฟอง สูงกว่าวันที่ 3 มีนาคม 2565 ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 2.90 บาท/ฟอง ถ้ารัฐยังตรึงราคาไว้ คนเลี้ยงก็มีแต่ตายอย่างเดียว วันนี้เกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเอง มีการแนะนำให้เกษตรกรรายเล็กรายย่อยปลดแม่ไก่เพื่อลดปริมาณการเลี้ยงลง เพราะเกษตรกรไม่ใช่มูลนิธิ ถ้าเลี้ยงแล้วขาดทุนจะเลี้ยงไปทำไม ล่าสุดสมาคมฯประกาศปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มจาก 3.10 บาท/ฟอง อีก 20 สตางค์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ปรับราคาเพียง 10 สตางค์

 

ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์หลัก เช่น ข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2564 โดยขณะนี้ราคาอยู่ที่ 12.75 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่ 8.91 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยพุ่งสูงกว่าตลาดโลกที่ราคา 12 บาท/กิโลกรัม และมีแนวโน้มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึง 15 บาท/กิโลกรัม

 

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคจากนโยบายของภาครัฐ คือ มาตรการ 3:1 ที่รัฐบังคับให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อผลผลิตข้าวโพด 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน จึงอยากให้รัฐบาลปลดล็อกมาตรการนี้ รวมถึงงดภาษีนำเข้าจะช่วยแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับลดลง หากภาครัฐยังไม่รีบตัดสินใจแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ คาดว่าราคาอาหารสัตว์จะแพงต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

 

 ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ไม่เพียงกระทบแต่ราคาเนื้อสัตว์เท่านั้นแต่รวมถึงผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคหลายรายการที่พร้อมกันวิ่งโร่ไปที่กระทรวงพาพาณิชย์ เพื่อขอปรับราคาสินค้าเพราะสุดอั้นกับต้นทุนการผลิตกับราคาจำหน่ายที่ไม่สมดุล

 

สำหรับภาคการผลิต เป้าหมายสำคัญที่สุดตอนนี้ คือ ต้องการปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาการปรับราคาสินค้าตามกลไกตลาด เพื่อรักษาสมดุลการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากขณะนี้สินค้าส่วนใหญ่จำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการตรึงราคา เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของคนไทย

 

อย่างไรก็ดีต้องตระหนักด้วยว่าภาคการผลิตก็เป็นหนึ่งในวัฏจักรผู้บริโภคเช่นกัน ภาครัฐควรมองผลประโยชน์ส่วนรวมให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของการแบ่งปันผลประโยชน์และเกื้อกูลกัน ยิ่งช่วงที่ต้นทุนการผลิตดีดตัวแรงขณะนี้ กลไกตลาดควรมีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคา เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยอย่างยั่งยืน