ประกันสังคม 2565 ล่าสุด ม.33 ม.39 ม.40 ลดเงินสมทบเหลือเท่าไหร่ มีผลวันไหน

22 มี.ค. 2565 | 10:00 น.

อัพเดท ประกันสังคม 2565 ลดเงินสมทบ มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ล่าสุดหลังครม.ไฟเขียว มาตราไหนลดลงเท่าไหร่ ลูกจ้าง-นายจ้าง ต้องจ่ายเงินกี่บาท มีผลตั้งแต่วันไหน สรุปรายละเอียดจบที่นี่

อัพเดท ประกันสังคม 2565 ลดเงินสมทบล่าสุด หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเห็นชอบ 10 มาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันแพง

 

รวมถึงบรรเทาผลกระทบสถานการณ์วิกฤตยูเครนและรัสเซีย ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค.2565 หนึ่งในนั้นคือการลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า การปรับลดเงินสมทบมาตรา 33 และ 39 ต้องเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ จากนั้นจึงจะเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ต่อไปเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ค.นี้ 

 

โดยการลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ใหม่ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.33

  • การลดเงินอัตราการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 ครอบคลุมทั้งผู้ประกันตน และนายจ้าง โดย ลดจากที่จ่ายอัตราเท่ากัน 5% ต่อเดือน เหลือเป็น 1% ต่อเดือน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป

 

ลดเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ โดยเป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนแล้วลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ปกติจะต้องจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จากจำนวน 432 บาทต่อเดือน ลดเหลือ จำนวน 91 บาทต่อเดือน

ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 

ผู้ประกันตนมาตรา 40 สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า โดยมีทางเลือกสิทธิประโยชน์และการจ่ายเงินสบทบกองทุนประกันสังคม 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ 

  • ทางเลือกที่ 1 รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือ เจ็บป่วย  เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต (ค่าทำศพ) ปกติจ่ายเงิน 70 บาท/เดือน ลดเหลือ 42 บาท/เดือน
  • ทางเลือกที่ 2 รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ กรณีชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จ กรณีเสียชีวิต (ค่าทำศพ) ปกติจ่ายเงิน 100 บาท/เดือน ลดเหลือ 60 บาท/เดือน
  • ทางเลือกที่ 3 รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี  เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จ กรณีเสียชีวิต (ค่าทำศพ) ปกติจ่ายเงิน 300 บาท/เดือน ลดเหลือ ลดเป็น 180 บาท/เดือน

 

หมายเหตุ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในระบบประกันสังคม ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • สัญชาติไทย
  • อายุ 15-65 ปีบริบูรณ์
  • ไม่เป็นลูกจ้างบริษัท หรือมีนายจ้าง
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39
  • ไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ