กรมประมง รวบกลางทะเล ใช้ “seabook” คนประจำเรือปลอม

19 มี.ค. 2565 | 06:24 น.

งานเข้า กรมประมง รวบกลางทะเลชลบุรี ใช้หนังสือคนประจำเรือ หรือ “seabook” ปลอม เล็งขยายผลต่อเนื่อง ระบุ โทษหนัก เสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 1.6-4.4 ล้านบาท

วันที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 08.30 น. ณ สะพานปลาวราสินธ์ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง แถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจrพบการใช้หนังสือคนประจำเรือสำหรับแรงงานต่างด้าว (Seabook) ปลอม  หลังเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการตรวจกลางทะเลตามแผนปกติ และได้มีการตรวจพบแรงงานต่างด้าว จำนวน 11 ราย บนเรือประมงอวนลากคู่ ใช้เอกสารแทน seabook ปลอม และมีการขยายผล

 

ขยายผล

 

โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก ชลบุรี ได้ตรวจพบการใช้เอกสารปลอมในลักษณะเดียวกัน  จำนวน 4 ราย จึงได้ออกคำสั่งเรียกเรือประมง กลับเข้าฝั่ง และพบแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอมจริง ซึ่งทั้ง 2 กรณี เจ้าหน้าที่จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ นำผู้ต้องหาและของกลาง ส่งยัง สภ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินคดีต่อไป รวมเรืออวนลาก 2 คู่ (เรือ 4 ลำ) และแรงงาน 15 ราย

 

นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย โดยในส่วนของแรงงานภาคการประมง มีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแรงงานประมงที่เจ้าของเรือประมงจะต้องดำเนินการไว้อย่างชัดเจน อาทิ ค่าจ้าง  เงินตอบแทน  หลักประกันสุขภาพ  วันหยุดพักผ่อน เวลาทำงาน อาหารน้ำดื่ม ที่พัก ฯลฯ และหากเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางกฎหมาย

 

บัญชา  สุขแก้ว

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างด้าวบนเรือประมง ซึ่งจะต้องมีหนังสือคนประจำเรือ (seabook) เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในระบบที่รัฐสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ โดย ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขั้นในเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยใช้หลัก 3 ป. คือ ป้อง ปราม และปราบ ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการในเรื่องของการควบคุมเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญการทำประมงผิดกฎหมายและแรงงานประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

 

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลอ่างศิลา (ชลบุรี)  กองตรวจการประมง ว่าขณะเจ้าหน้าที่นำเรือตรวจตรวจการประมงทะเล 213 ออกปฏิบัติการตรวจปราบปรามและควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย บริเวณอ่าวแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการตรวจตามแผนปฏิบัติการปกติและตรวจเพื่อดูแลคุ้มครองแรงงาน 

 

ตรวจเอกสาร

ปรากฏพบเรืออวนลากคู่ ซึ่งมีแรงงานต่างด้าว จำนวน 11 ราย ใช้เอกสารประกอบแทน seabook ปลอม  และมีการขยายผลโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก ชลบุรี ว่าได้ตรวจพบเหตุอันควรสืบค้นการใช้เอกสารปลอมในลักษณะเดียวกันในแรงงานต่างด้าว จำนวน 4 ราย จึงได้ออกคำสั่งเรียกเรือประมงทั้ง 2 ลำ กลับเข้าฝั่ง และร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสหวิชาชีพ ประกอบด้วย ศรชล  กรมประมง  กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และล่าม ซึ่งพบแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอมจริง เจ้าหน้าที่จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ นำผู้ต้องหาและของกลาง ส่งยัง สภ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินคดีต่อไป

 

โดยทั้ง 2 กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 83 ฐานความผิด : เป็นเจ้าของเรือใช้แรงงานต่างด้าวทำงานบนเรือโดยไม่มีหนังสือคนประจำเรือ ซึ่งต้องได้รับโทษตามมาตรา 153  ปรับ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนประจำเรือหนึ่งคน ซึ่งกรณีนี้ เจ้าของเรือประมงอวนลากคู่ เคสที่ 1 มีแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอม 11 ราย ต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 4,400,000 บาท 

 

ตรวจเอกสารคนประจำเรือ

 

ส่วนอวนลากคู่ เคสที่ 2 มีแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารปลอม 4 ราย ต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 1,600,000 บาท และมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอมด้วย อีกทั้งกรมประมงจะดำเนินการมาตรการทางการปกครองโดยเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือ และเจ้าของเรือจะเป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 39 ขาดคุณสมบัติในการได้รับใบอนุญาตทำการประมงในรอบถัดไป เป็นเวลา 5 ปี และกรมประมงจะขยายผลติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

โดยหลังจากนี้ กรมประมงจะมีการขยายผลต่อไปว่ามีการลักลอบกระทำความผิดในลักษณะนี้อีกหรือไม่ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับพี่น้องชาวประมง และเข้มงวดในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายและการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ซึ่งสุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและความมั่นคงของอาชีพประมง