พาณิชย์ติวเข้มเอกชน ใช้ประโยชน์ RCEP ตัวช่วยไทยฟื้นเศรษฐกิจ

17 มี.ค. 2565 | 05:03 น.

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP/อาร์เซ็ป) เป็นความตกลงการ การค้าเสรี หรือ FTA ที่ใหญ่ที่สุด ในโลก (สัดส่วน 30% ของการค้าโลก) ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ (ไม่รวมอินเดีย) ได้มีผลบังคับแล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา

 

ความคืบหน้าล่าสุดของ RCEP เป็นอย่างไร ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ และใช้สิทธิประโยชน์กันมากน้อยแค่ไหน กระทรวงพาณิชย์เตรียมการรองรับการบังคับใช้ความตกลงอย่างไร  นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด

 

นางมัลลิกา กล่าวว่า หลังจากที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้เข้ามารับตำแหน่งและเริ่มทำหน้าที่ประธานรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรก ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-ส.ค. 2562 ได้แสดงบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศที่ยังคงมีประเด็นติดขัดในการเจรจา จนประสบความสำเร็จในการผลักดันให้การเจรจาสามารถหาข้อสรุปจนครบทั้งหมด 20 บท และนำไปสู่การลงนามความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

 

มัลลิกา  บุญมีตระกูล มหาสุข

 

  • บังคับใช้แล้ว 12 ประเทศ

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับใช้แล้วกับสมาชิก 10 ประเทศได้แก่ อาเซียน 6 ประเทศ คือ บรูไนกัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และนอกอาเซียน 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย  และในวันที่ 18 มีนาคม 2565 จะมีผลใช้บังคับใช้กับมาเลเซีย ส่วนสมาชิกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดจะมีผลใช้บังคับความตกลงเร็ว ๆ นี้

 

มองกลับไปช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันความตกลงกันอย่างเต็มที่แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สิ่งที่เห็น ก็คือท่าทีของทุกประเทศสะท้อนถึงเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน โดยมีการประชุมผ่านระบบทางไกลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของไทยหลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และเราก็สามารถให้สัตยาบันต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนในวันที่ 28 ตุลาคม 2564

 

พาณิชย์ติวเข้มเอกชน ใช้ประโยชน์ RCEP ตัวช่วยไทยฟื้นเศรษฐกิจ

 

ความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของประเทศสมาชิก นำมาสู่ความสำเร็จในการผลักดันความตกลง RCEP ให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อประชาชนและภาคธุรกิจจะได้เริ่มใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ โดยความตกลงนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทุกประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

 

พาณิชย์ติวเข้มเอกชน ใช้ประโยชน์ RCEP ตัวช่วยไทยฟื้นเศรษฐกิจ

 

“ความตกลง RCEP จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยได้มากขึ้น จากสมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทยจำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง นํ้าผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น”

 

อันที่จริง ไทยเราก็มีความตกลงอาเซียน+1 อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งความตกลงนี้ก็ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป แต่ RCEP เป็นความตกลงที่มีความสมบูรณ์มากกว่า ทั้งในเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน รวมถึงมีกฎเกณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากความตกลงอาเซียน+1 ที่มีอยู่เดิมจัดทำในช่วงระยะเวลาที่ต่างกัน ทำให้มีมาตรฐาน และครอบคลุมประเด็นทางการค้าที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีการทบทวน แต่ส่วนใหญ่เป็นการทบทวนการเปิดตลาด ไม่ได้เป็นการปรับปรุงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการค้าประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

 

พาณิชย์ติวเข้มเอกชน ใช้ประโยชน์ RCEP ตัวช่วยไทยฟื้นเศรษฐกิจ

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ความตกลงที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการบังคับใช้ความตกลง RCEP ที่ระดับภาษีภายใต้ความตกลง RCEP ในสินค้าบางรายการอาจจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าความตกลงอาเซียน+1 ที่มีการบังคับใช้มาแล้วหลายปี และบางรายการสินค้าประเทศคู่เจรจาก็อาจไม่ได้เปิดให้ไทยภายใต้ความตกลง RCEP เนื่องจากมีความอ่อนไหวกับประเทศคู่เจรจาอื่น

 

  • ติวเข้มธุรกิจไทยใช้ประโยชน์

ทั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นับตั้งแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ ผู้ประกอบการไทยมีความตื่นตัวและสนใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP มาก ซึ่งประเด็นเรื่องการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจไทยเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและมีการวางแผนรองรับไว้แล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมการรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด

 

ที่ได้ดำเนินการแล้วไม่ว่าจะเป็นการเปิดศูนย์ให้บริการข้อมูล (RCEP CENTER) การให้ความรู้ผ่านการอบรมสัมมนา และการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ผ่านโครงการ “จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP” ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าฯทำงานร่วมกับ EXIM BANK เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่ต้องการส่งออกไปตลาด RCEP สามารถ เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการส่งออกนี้ได้ ในอัตราดอกเบี้ยตํ่าเพียง 2.75% ต่อปี ในปีแรก ปีที่ 2: 4% ปีที่ 3-4: Prime Rate-0.25% ให้วงเงินกู้สูงสุดถึงรายละ 50 ล้านบาท มีการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วภายใน 7 วัน โดยทางธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท

 

“นับตั้งแต่มีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 10 ก.พ.-8 ก.พ. 65 มีผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 25 ราย วงเงินรวมประมาณ 810 ล้านบาท”

 

พาณิชย์ติวเข้มเอกชน ใช้ประโยชน์ RCEP ตัวช่วยไทยฟื้นเศรษฐกิจ

 

  • จีนเบอร์ 1 ไทยใช้สิทธิ์มากสุด

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ ด้วย Form RCEP อยู่ที่ 28.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 901.27 ล้านบาท ประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด คือ จีน คิดเป็นมูลค่า 13.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 444.49 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าพืช ผัก ผลไม้สด เช่น มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียน และมะพร้าว เป็นต้น รองลงมา มีการใช้สิทธิ์ส่งไปญี่ปุ่น มูลค่าการขอใช้สิทธิ์ อยู่ที่ 12.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 387.44 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าปลาปรุงแต่งประเภทปลาเฮอร์ริง ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ค ผักปรุงแต่ง และสิ่งทอ

 

และตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้กับเกาหลีใต้ มีมูลค่าการขอใช้สิทธิ์ในการส่งออกไปเกาหลีใต้อยู่ที่ 2.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 69.33 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าไขมันและน้ำมันชนิดระเหยยากอื่นๆ ที่ได้จากพืชหรือจุลินทรีย์ แชมพู สิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผมอื่น ๆ ถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม รถจักรยานยนต์ เชิ้ตของบุรุษหรือเด็กชายทำด้วยฝ้าย

 

“อยากเน้นยํ้าว่าความตกลงฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสมาชิก RCEP จากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ  อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากรกฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคใน ตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวาง แผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป” นางมัลลิกา กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3766 วันที่ 17 -19 มีนาคม 2565