ระดมทุกเครื่องมือแก้แล้ง ขับเคลื่อนอีสานเขียวเมืองกาญจน์

11 มี.ค. 2565 | 08:55 น.

รัฐระดมทุกเครื่องมือแก้แล้ง อีสานเมืองกาญจน์ แก้ไขด้วยมาตรการบูรณาการโครงการจัดหาแหล่งน้ำหลากรูปแบบ เป็นอีสานเขียว เมืองกาญจน์ ดันโมเดล ประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อื่น ในประเทศไทย

 

 

อีสาน” คนต้องนึกถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ดินแดนที่แห้งแล้งหนักในอดีต อันเนื่องจากสภาพดินทรายไม่อุ้มน้ำ พื้นที่ทำกินอยู่สูงกว่าลำน้ำที่ไหลผ่าน ทำเลสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำก็มีน้อย

               

อีสานของไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนสภาพจากหลังมือเป็นหน้ามือไม่น้อย  เอาเฉพาะแผนพัฒนาแหล่งน้ำ มีการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำหลากหลายรูปแบบ คำว่าอีสานเขียวไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยอีกต่อไป

 

 หากจำเพาะอีสานเมืองกาญจน์  หมายถึงพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย 5 อำเภอจาก 13 อำเภอของจังหวัด ได้แก่ บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวนเป็นอีสานที่แห้งแล้งจากปริมาณน้ำฝนรายปีค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับบริเวณตะวันตกที่ใกล้เทือกเขาตะนาวศรีติดชายแดนพม่า อย่าง อ.สังขละบุรี และ อ.ทองผาภูมิ

ระดมทุกเครื่องมือแก้แล้ง ขับเคลื่อนอีสานเขียวเมืองกาญจน์

ที่ผ่านมา มีความพยายามจัดหาน้ำจากแม่น้ำแม่กลองส่งขึ้นไป แต่มีข้อจำกัดและส่งน้ำได้ในปริมาณที่น้อย ราษฎรในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อเกษตรกรรมตลอดมาทุกปี

               

ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของพื้นที่ 5 อำเภอดังกล่าว และสั่งการให้ดำเนินมาตรการแก้ไข

ระดมทุกเครื่องมือแก้แล้ง ขับเคลื่อนอีสานเขียวเมืองกาญจน์

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลางกล่าวว่า มติอนุกรรมการฯ เมื่อปลายปี 2563 รับทราบแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้ง 5 อำเภอดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ลงเขื่อนลำอีซู อ.บ่อพลอย โครงการสถานีสูบน้ำแม่น้ำแควใหญ่ โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบน พร้อมระบบผันน้ำ  โครงการขยายความจุอ่างเก็บน้ำลำอีซู และโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำ อาคารประกอบคลองท่าล้อ-อู่ทอง รวมทั้งการพัฒนาน้ำบาดาลมาสนับสนุนน้ำผิวดิน

               

“น้ำบาดาล เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำใต้ดินในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เท่าที่ลงพื้นที่ อ.เลาขวัญ และ อ.ห้วยกระเจา พบว่า สามารถช่วยได้ทั้งอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเพิ่มน้ำ เพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าสินค้า โดยไม่ต้องอพยพหางานทำที่อื่น โครงการคืนทุนระยะสั้น แต่มีข้อจำกัดตรงที่น้ำบาดาลในแต่ละแอ่งมีปริมาณจำกัด ไม่สามารถนำมาใช้ได้ครอบคลุมพื้นที่มีปัญหา”

 

ดร.สมเกียรติย้ำว่า โครงการหลักในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง 5 อำเภอของกาญจนบุรี จะเป็นโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ และโครงการสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่ อ.บ่อพลอย ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจงคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ

ระดมทุกเครื่องมือแก้แล้ง ขับเคลื่อนอีสานเขียวเมืองกาญจน์

หากอีสานเมืองกาญจน์ สามารถแก้ไขด้วยมาตรการบูรณาการโครงการจัดหาแหล่งน้ำต่างๆ เหล่านี้ เป็นอีสานเขียวเมืองกาญจน์ได้ เชื่อว่า จะเป็นแม่แบบหรือโมเดล ประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้ด้วย

ระดมทุกเครื่องมือแก้แล้ง ขับเคลื่อนอีสานเขียวเมืองกาญจน์