ผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนมีเฮ รัฐจ่อตรึงราคาจ่ายเท่าเดิม

11 มี.ค. 2565 | 07:46 น.

ผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนมีเฮ รัฐจ่อตรึงราคาจ่ายเท่าเดิม กกพ.เผยอยู่ระหว่างเตรียมหางบประมาณว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า มีแนวคิดจะช่วยประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าระดับไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,200 บาทต่อเดือนให้อยู่ในราคาเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมหางบประมาณว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ 

 

ทั้งนี้ ในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 จะปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดในงวดต่อไป โดยยอมรับว่าจะต้องปรับขึ้นแน่นอน แต่จะพยายามบริหารจัดการไม่ให้ขึ้นสูงมาก โดยกกพ.ได้ทำการบ้าน และพยายามทำให้ยู่ในกรอบเดิม 

 

"มีความจำเป็นที่ต้องมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 ขึ้นตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้นเกินกว่าสมมติฐานที่ประมาณการราคาน้ำมันดิบไว้ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ค่าเอฟทีที่สะท้อนต้นทุนจริงเพิ่มขึ้นไปเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได 16.71 สตางค์/หน่วย"

 

 

อย่างไรก็ตาม กกพ. จะพยายามบริหารจัดหาเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า เพื่อประคองค่าเอฟทีให้ปรับขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

 

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ หรือ แปลง G1/61 นั้น ปัจจุบันผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) และผู้รับสัญญารายใหม่ (บริษัท ปตท.สผ. อีดี) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในโครงการแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป

 

เล็งช่วยผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนจ่ายราคาเดิม

 

และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเร่งผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี เข้าดำเนินงานเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าว เพื่อให้ได้ปริมาณตามเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะกำกับ ดูแล ให้การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งจะเริ่มในปลายเดือน เม.ย. 65 เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างราบรื่น 
 

นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้มีแนวทางสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และแปลง G2/61 รวมทั้งกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกรายเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เต็มความสามารถ เลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไป

 

ตลอดจนได้เร่งดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่และเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ และนับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนในส่วนของการจัดหาปิโตรเลียมในระยะยาวด้วย