เกษตรกร เฮ! สวทช.คิดค้นชุดตรวจ "โรคใบด่างมันสำปะหลัง" สำเร็จ รู้ผลใน 15 นาที  

11 มี.ค. 2565 | 07:20 น.

สวทช. คิดค้นชุดตรวจแบบรวดเร็ว "โรคใบด่างมันสำปะหลัง" สำเร็จ หลักการเดียวกับ ATK รู้ผลใน 15 นาที เกษตรกรตรวจเองได้ เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค

11 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยถึงความสำเร็จของการพัฒนาชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังนี้ว่า

 

โรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นโรคที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อ มันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เพราะหากมีการนำต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่ติดโรคไปเพาะปลูก อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังได้ถึง 80-100 %

 

เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังจึงนับว่า มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ติดเชื้อไปเพาะปลูกต่อ รวมถึงช่วยชะลอการแพร่กระจายของโรคใบด่างลงได้ โดยการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลัง

 

เริ่มตั้งแต่การตรวจแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาดก่อนการเก็บเกี่ยว การตรวจในส่วนขยายพันธุ์ เช่น mini-stem cutting หรือ tissue culture นอกจากนี้ยังใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูกเพื่อจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยฯ ได้พัฒนาเทคนิคอิไลซ่า (ELISA) สำหรับตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลังที่พบในประเทศไทย โดยใช้น้ำยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ทางทีมวิจัยฯ ได้พัฒนาขึ้นเอง พบว่า เทคนิคอิไลซ่า (ELISA) ที่พัฒนาขึ้นมีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจอิไลซ่าที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาต่อตัวอย่างถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ดี การตรวจด้วยเทคนิคอิไลซ่าจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างนำมาตรวจสอบภายในห้องปฏิบัติการและต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องอ่านผล ใช้เวลาในการตรวจสอบจนทราบผลประมาณ 1-2 วัน

ข่าวดีล่าสุด ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช.ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือในการอ่านผล

 

สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนามได้ โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ และมีความแม่นยำ ความจำเพาะเจาะจง ความไวเท่ากับชุดตรวจอิไลซ่าที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR พบว่า มีความแม่นยำร้อยละ 94 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 91

 

สำหรับชุดตรวจ Strip test ใช้งานง่าย เพียง 3 ขั้นตอน 1. นำใบพืชมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2. จุ่มตัว  Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3. อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง C และ T แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค

 

ขณะนี้ทีมวิจัยฯ ได้ผลิตต้นแบบชุดตรวจ Strip test และเตรียมนำชุดตรวจไปทดสอบการใช้งานจริงกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยจะมีการจัดฝึกอบรมเรื่อง “การตรวจวินิจฉัย เชื้อ Sri Lankan cassava mosaic virus ในตัวอย่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ immunochromatographic strip test” และส่งชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นให้หน่วยงานที่สนใจนำไปประเมินผลการใช้งานจริง

 

ทั้งนี้ ชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยเด่นในงาน NAC2022 ซึ่งจะมีนิทรรศการออนไลน์ผลงานที่เกี่ยวกับ BCG Model มากกว่า 100 ผลงาน ทั้งด้านเกษตร–อาหาร การแพทย์และอื่น ๆ ครบวงจรที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆและพัฒนาประเทศ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน NAC2022 ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคมนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรีได้ที่ www.nstda.or.th/nac หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2564-8000

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ทีมวิจัยไบโอเทค ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test สำหรับการตรวจวินิจฉัย โรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 15 นาที มีความแม่นยำร้อยละ 94 และความไวร้อยละ 91

 

เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถตรวจเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการ ไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคพืชหลังการเพาะปลูก ทำให้สามารถจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

 

ชุดตรวจ Strip test นี้ใช้งานง่าย เพียง 3 ขั้นตอน 1.นำใบพืชมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2.จุ่มตัว  Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3.อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง C และ T แสดงว่า ตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่า ตัวอย่างไม่ติดโรค

 

ขณะนี้ ทีมวิจัยได้ผลิตต้นแบบชุดตรวจ Strip test และเตรียมนำชุดตรวจไปทดสอบการใช้งานจริงกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ก่อนส่งชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นให้หน่วยงานที่สนใจนำไปประเมินผลการใช้งานจริง