ยื่นก.ล.ต.-DSI-ปอศ. ฟัน อดีตบิ๊ก GGC - บิ๊กในเครือปตท. เอี่ยวทุจริต-ฟอกเงิน

02 มี.ค. 2565 | 10:11 น.

ผู้ถือหุ้น ของปตท.และบริษัท ในเครือ ยื่น 3 หน่วยงาน ก.ล.ต.-ดีเอสไอ และตำรวจปอศ. เอาผิด อดีตผู้บริหาร GGC และ ผู้บริหาร บริษัทในเครือ พัวพันการทุจริตและฟอกเงิน 

วันที่ 2 มีนาคม 2565 นายสยามราช ผ่องสกุล ในฐานะผู้ถือหุ้น ของปตท.และบริษัท ในเครือ ได้ทำหนังสือ ถึง เลขาธิการ ก.ล.ต. , อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ) เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่


สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 นายสยามราชฯ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ดังนี้

นายสยามราช ผ่องสกุล ในฐานะผู้ถือหุ้น ของปตท.และบริษัท ในเครือ

1.ผู้บริหารของบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ร่วมกันกระทำความผิด กับบริษัทเอกชน และร่วมกันปกปิดการกระทำความผิด (ระหว่างปีพ.ศ. 2550 – 2552) มีการทุจริตซื้อวัตถุดิบที่มีราคาสูงกว่าราคาประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายต่ำกว่าราคาตลาด

 

เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนทำให้ บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ได้รับความเสียหายเป็นเงินสูงถึง 314 ล้านบาท แต่พบข้อมูลที่อาจจะเข้าข่ายมีการปกปิดละเว้นไม่ดำเนินคดีกับผู้บริหารและบริษัทเอกชนผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อมามีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีกหลายครั้งหลายหน 

 

2.ผู้บริหาร บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ร่วมกันกระทำความผิด กับ บริษัทเอกชน บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ต่อมาได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ชื่อว่า บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC)

 

หลังจากที่มีคณะผู้บริหารชุดใหม่มาแทนผู้บริหารเดิมที่ลาออกในเดือนมิถุนายน 2561 ในช่วงระยะเวลาปลายปีพ.ศ.2561 – พ.ศ.2563  มีการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันกับ ปีพ.ศ.2550 – 2552 มีการซื้อวัตถุดิบที่มีราคาสูงกว่าราคาประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทำให้มีผลต่างหรือขาดทุนทันทีในวันที่ซื้อหลายล้านบาท 

3.บริษัท GGC มีข้อมูลที่เชื่อได้ว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร แล้วนำเอกสารปลอมไปฉ้อโกงเงินปตท. ช่วงปีพ.ศ.2561 บริษัท GGC โดยเจ้าหน้าที่ ได้ปลอมเอกสารขึ้นมาหลายฉบับ เป็น รายงานปริมาณสินค้าในคลัง โดยได้ปลอมลายมือชื่อ และได้แสกนลายมือชื่อพนักงาน ของบริษัท คลังเก็บน้ำมัน ลงในเอกสารปลอม แล้วถ่ายเอกสาร

 

โดยที่เจ้าหน้าที่  ตลอดจน บริษัท คลังเก็บน้ำมัน  ไม่รู้เรื่องการปลอมเอกสาร การปลอมเอกสารดังกล่าวเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่า GGC มีน้ำมันอยู่จริงตามรายงานปริมาณสินค้าในคลัง ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีน้ำมันอยู่จริงตามรายงานที่ได้ปลอมเอกสารขึ้นมา 

 

ต่อมาได้มีการนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปหลอกลวงต่อบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)  ว่ามีน้ำมันอยู่จริงตามรายงานปริมาณสินค้าในคลัง แล้วเบิกเงินต่อ ปตท. เป็นเงินประมาณ 400 - 600 ล้านบาท อันเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ปตท. ต่อมาได้ร่วมกันนำเงินที่ได้จากการฉ้อโกงปตท.ไปใช้ในการดำเนินกิจการของบริษัท GGC อันเป็นการกระทำความผิดเข้าข่ายมูลฐานตามพ.ร.บ.ฟอกเงิน

 

เรื่องการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมนั้น ได้มีการร้องทุกข์กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ) แล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม การปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม เพื่อไปหลอกลวงเงินจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มากกว่า 2 ครั้ง นั้น เข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3(18) และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท อยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ) 

 

เรื่องทั้งหมดนี้ นายสยามราช ได้กล่าวว่า มีเอกสารสำคัญจำนวนมาก ที่ชี้ชัดว่ามีผู้กระทำความผิดจริง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และทำให้ บริษัท ปตท.และบริษัทในเครือได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำหนังสือร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บูรณาการร่วมกันดำเนินการสืบสวนตามอำนาจหน้าที่เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ต่อไป