"เยียวยาเกษตรกร" สั่งเร่งช่วยเหตุน้ำท่วม ภาคใต้ เช็คสิทธิ์ เงื่อนไขโอนเงิน

01 มี.ค. 2565 | 04:36 น.

"ทองเปลว กองจันทร์" ปลัดเกษตรฯ สั่งการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติฉุกเฉิน เร่งให้ความช่วยเหลือ “เยียวยาเกษตรกร” ที่ประสบเหตุช่วยน้ำท่วม ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ เช็คเงื่อนไขแจกเงินผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ด้วยอิทธิพลมรสุมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และวาตภัย ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ทำให้ภาคใต้จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดตรัง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ในช่วงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 – ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 08.00 น.) รวม 7 จังหวัด 33 อำเภอ มีรายละเอียดดังนี้

 

1) จ.นครศรีธรรมราช เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากพนัง อ.เมือง อ.ชะอวด อ.จุฬาภรณ์ อ.พระพรหม อ.นบพิตำ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีสัตว์ได้รับผลกระทบ 251 ตัว (โค 1 ตัว สัตว์ปีก 250 ตัว)

 

2) จ.พัทลุง เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กงหรา อ.เมือง และ อ.เขาชัยสน มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับผลกระทบ 1,700 ไร่

 

3) จ.สงขลา เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นาทวี และ อ.รัตนภูมิ มีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราได้รับผลกระทบ 30 ไร่

 

4) จ.ปัตตานี เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่ลาน อ.หนองจิก และ อ.โคกโพธิ์ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2 – 3 วัน

 

5) จ.ยะลา เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บันนังสตา อ. ยะหา และ อ.รามัน คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2 – 3 วัน

 

6) จ.นราธิวาส เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 13 อำเภอ ได้แก่ อ.รือเสาะ อ.ตากใบ อ.แว้ง อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.สุคิริน อ.สุไหง-โกลก อ.เมือง อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.จะนะ ผลกระทบด้านการเกษตร ด้านพืช เกษตรกร 22,895 ราย พื้นที่ไดรับผลกระทบ 10,509.66 ไร่ (ข้าว 4,317 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,570.66 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,622 ไร่) ด้านประมง เกษตรกร 102 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น ปลาในบ่อดิน 46 ไร่ ปลาในบ่อซีเมน 78 ตารางเมตร และด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 375 ราย สัตว์ไดรับผลกระทบ 491 ตัว แบ่งเป็น โค 319 ตัว ไก่ 172 ตัว

 

7) จ.ตรัง เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 1 อำเภอ คือ อ. นาโยง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2 – 3 วัน

 

 

กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายหน่วยงานระดับกรมดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย รวมทั้ง มอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด พิจารณาดำเนินการผ่านศูนย์ติดตามฯ ได้แก่

 

1) ติดตาม และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง และแจ้งเตือนภัย รวมทั้งรวบรวมประสานข้อมูล สนับสนุนทรัพยากร กำลังคน เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะ ให้พร้อมสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ให้เร่งระบายน้ำหรือสูบน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ชุมชน และพื้นที่เกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

2) อพยพสัตว์ไปยังที่ปลอดภัยหรือจัดที่เตรียมไว้ แจกจ่ายเสบียงอาหารสัตว์ จัดชุดเฉพาะกิจสำหรับให้การดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ได้ทันที และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสถานการณ์และบรรเทาผลกระทบ 3) สนับสนุนข้อมูลด้านการเกษตรและให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายต่อด้านการเกษตรหรือต่อสาธารณะ

 

 

รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ 4) ประสานการปฏิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย และ 5) เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ให้เร่งสำรวจความเสียหายและจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยประสานบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายหน่วยงานระดับกรม ได้แก่ กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย

 

กรมปศุสัตว์ ประเมินสถานการณ์และจัดทำแผนการอพยพสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดเตรียมบุคลากร เวชภัณฑ์ เสบียงสัตว์ ให้เพียงพอและสอดคล้องกับสถานการณ์กรมประมง ตรวจสอบ กำชับ เจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ดุร้าย (จระเข้) และสนับสนุนเรือตรวจการขนาดต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย

 

กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง โดยให้เตรียมการป้องกันพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพืชผลที่มีมูลค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกรมพัฒนาที่ดิน ประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง

 

กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ประเมินสถานการณ์และเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหรือข้อมูลด้านหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือต่อไป

 

อนึ่ง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564  มีการปรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการหลักเกณฑ์ช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ซึ่งสำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือนั้น เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย และมีพื้นที่เสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ สำหรับเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรจะได้รับ คือ ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท