คนไทยซื้อ “เหล้า-บุหรี่” ช่วงโควิดพุ่ง 7.8 หมื่นล้าน

28 ก.พ. 2565 | 04:20 น.

สภาพัฒน์เปิดภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2564 พบข้อมูลคนไทยมีค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า และบุหรี่ 7.8 หมื่นล้านบาท แนะหาทางเฝ้าระวังลดจำนวนผู้ดื่ม และลดนักสูบหน้าใหม่

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ว่า ในไตรมาสนี้คนไทยมีค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า และบุหรี่ อยู่ที่ 78,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.1% และเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสก่อนที่มีการใช้จ่ายอยู่ที่ 57,433 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 49,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2%
  • ค่าบุหรี่ 29,032 ล้านบาท ลดลง 2%

 

สำหรับสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 รวมถึงการดื่มเหล้าสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่

ส่วนภาพรวมปี 2564 การบริโภคบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า มีสัดส่วนลดลง 1.8% สาเหตุเนื่องจากมาตรการปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และมาตรการจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งประชาชนต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ขณะที่บางส่วนมีรายได้ลดลงจึงลดปริมาณการบริโภคลง

 

ค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ของครัวเรือนไทย

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าระวังการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ดังนี้

 

1.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดลง ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อ และเมื่อดื่มต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 

 

2.ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า อาจมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น dual users ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสภาวะสมองล้า โดยเฉพาะหากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อนอายุ 14 ปี ดังนั้น หากจะผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน

 

รวมถึงจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ อาทิ เงื่อนไขการจำหน่าย เงื่อนไขในการใช้เพื่อการเลิกบุหรี่แบบเดิมให้มีความชัดเจน เพื่อลดจำนวนผู้สูบหน้าใหม่และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน