รัสเซียบุกยูเครน ทุบ ศก.โลกดิ่งเหว เที่ยวไทยส่อหายอีก 5 แสนคน

25 ก.พ. 2565 | 07:00 น.

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนสะท้านโลก จับตาสงครามเต็มรูปแบบทุบเศรษฐกิจโลกดิ่งเหว ตลาดหุ้นป่วนยาว น้ำมันดิบพุ่งเกิน 100 ดอลลาร์ ดันเงินเฟ้อทั่วโลกกระฉูด ค้าไทย-รัสเซียเป้า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ไปไม่ถึงดวงดาว ซ้ำเติมโควิด รัสเซีย-ยุโรปตะวันออกเที่ยวไทยส่อหาย 5 แสนคน

 

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเขม็งเกลียว เป็นไปในทิศทางที่ใช้ความรุนแรงนำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบทุกขณะ ล่าสุด (24 ก.พ. 65) เกิดเหตุระเบิดในเมือง Mariupol ชายแดนด้านตะวันออกของยูเครนที่อยู่ติดกับรัสเซีย และมีเสียงระเบิดดังหลายครั้งในกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน และหลายเมืองทั่วประเทศ หลังนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงผ่านโทรทัศน์ประกาศเริ่มปฏิบัติการทางทหาร ในภูมิภาคตะวันออกของยูเครน สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ล่าสุดยังรุกคืบบุกยึดหลายเมืองในยูเครน

 

รัสเซียบุกยูเครน ทุบ ศก.โลกดิ่งเหว เที่ยวไทยส่อหายอีก 5 แสนคน

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากเกิดสงครามเต็มรูปแบบ โดยแสนยานุภาพทางทหารแล้วยูเครนสู้รัสเซียไม่ได้ หากไม่มีประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ รวมถึงยุโรป ที่พยายามดึงยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (NATO)ไม่ส่งกำลังและอาวุธเข้าไปช่วย หากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงบานปลาย

 

กดดันจากเบาไปหาหนัก

ก่อนหน้านี้รัสเซียได้ส่งกำลังทหารกว่า 1.9 แสนนาย เข้าประชิดห่างชายแดนยูเครนเหลือเพียง 15 กิโลเมตร(กม.) จากเดิมอยู่ห่าง 50-60 กม. เพื่อกระชับพื้นที่กดดัน ขณะที่ได้คงทหารไว้ในเบลารุสที่เป็นชาติพันธมิตรที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียและยูเครนไว้อีกกว่า 3 หมื่นนาย หลังมีการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงร่วมกันก่อนหน้านี้ รวมถึงได้ทำสงครามไฮบริด (ไฮบริดวอร์)ควบคู่กับการกดดันทางการทหาร โดยโจมตีทางไซเบอร์เข้าไปในระบบการเงิน และระบบทุกอย่างของยูเครนที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

การดำเนินการต่าง ๆ ข้างต้นของรัสเซียเป็นการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เป้าหมายเพื่อกดดันยูเครนที่ยังไม่ฟังคำทัดทานของรัสเซีย และยังไม่ยอมรับปากว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต้ ที่ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซีย เพราะหากยูเครนเป็นสมาชิกของนาโต้ และอนุญาตให้สหรัฐฯ หรือชาติพันธมิตรในยุโรปที่เป็นสมาชิกของนาโต้มาตั้งฐานทัพ หรือขีปนาวุธในยูเครนที่อยู่ประชิดติดกับรัสเซียแล้ว หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นภัยต่อรัสเซียมาก

 

เริ่มกระทบแล้วทั่วโลก

สำหรับความขัดแย้งและเริ่มมีการปะทะกันครั้งนี้จะบานปลายยืดเยื้อแค่ไหน ไม่มีใครตอบได้ ขึ้นกับรัสเซียและยูเครนต้องเร่งหาข้อยุติ รวมถึงต้องไม่มีประเทศที่สมาชิกนาโต้ที่อยู่เบื้องหลังไปทำให้สถานการณ์บานปลาย แต่สถานการณ์การสู้รบที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วเวลานี้ ได้ส่งผลกระทบแล้ว ที่สำคัญได้แก่ 1. ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลกดิ่งลง จากหวั่นเกิดสงครามใหญ่ 2. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้จะพุ่งเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแน่นอน ซึ่งจะกระทบราคาสินค้าและเงินเฟ้อปรับขึ้นทั่วโลก 3.การค้าไทย-รัสเซียที่มีเป้าหมาย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ในปี 2566) คงยืดเวลาออกไปจากที่สหรัฐฯ พันธมิตรยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติแซงก์ชั่นรัสเซีย

 

รัสเซียเดินยุทธศาสตร์ 2 ขา

ด้าน ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่า มีโอกาสที่รัสเซียจะบุกยูเครนเต็มรูปแบบ แต่ไม่มากนักเพราะ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะผลประโยชน์ที่รัสเซียได้รับต้องจ่ายแพง แต่เกมจะลากยาวไปเรื่อย ๆ เพราะ 1.ทั้งกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ต้องสู้กับกองกำลังของสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ นาโต้ ซึ่งรัสเสียไม่น่าจะสู้ได้

 

2. กระทบเศรษฐกิจรัสเซีย ขณะนี้ถูกแซงก์ซั่นจากสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่นและยุโรป ผ่านทางสถาบันการเงิน ทำให้รัสเซียทำธุรกิจทางการเงินกับต่างประเทศลำบาก หากรัสเซียยังแสดงท่าทีคืบคลานเข้าไปในยูเครน จะถูกคว่ำบาตรและกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นในปี 2015 ที่รัสเซียยึดไครเมียเศรษฐกิจรัสเซียติดลบ 3.5%

 

3.รายได้จากน้ำมันและก๊าชซึ่งเป็นรายได้หลักของรัสเซีย หายไป เช่น ปัจจุบัน Nord Stream 2 ที่เป็นท่อก๊าซส่งขายเยอรมนี และยุโรป เยอรมนีให้หยุดเจรจาการซื้อขาย และ 4.พันธมิตรเดียวของรัสเซียขณะนี้คือ จีน กรณีนี้จีนไม่เอาด้วย เพราะจีนบอกว่า ควรเจรจา และมองว่ายูเครนและยุโรปคือตลาดสำคัญของจีน

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

“ยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีปูตินในเวลานี้น่าจะเป็น “ยุทธศาสตร์ 2 ขา” คือ ขาหนึ่งกดดันยูเครนไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนดระยะเวลา กองกำลังทหารล้อมชายแดนยูเครนไปเรื่อยๆ อีกขาหนึ่งคือ ทางการทูต คือยังไม่ปิดทางการเจรจา หากเป็นแบบนี้ เกมนี้จะลากยาวไปเรื่อย ๆ ในแง่ยุทธศาสตร์ถือว่ารัสเซียบรรลุตามเป้าหมาย คือแสดงแสนยานุภาพ และสามารถเขย่า และทดสอบกองกำลังพันธมิตร และนาโต้ได้”

 

กรณีการปะทะกันในภูมิภาคตะวันออกของยูเครน (ภูมิภาคดอนบาส) ที่หากขยายวงจากในปัจจุบัน มองว่าจะกระทบน้ำมันพุ่งขึ้นได้ 120-170 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เศรษฐกิจโลกลดลง 0.3-0.5% เงินเฟ้อทั่วโลก พุ่ง 10% ส่งออกไทยลดลงจากคาดการณ์ 1-2% และกระทบนักท่องเที่ยวรัสเซีย 5 แสนคน และจากยุโรปตะวันออก 2 แสนคนรวม 7 แสนคนที่เป็นเป้าหมายจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้ (กราฟิกประกอบ) มีโอกาสหายไป 70% (4.9 แสนคน)”

 

ส่งออกผวากระทบโอนเงิน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เวลานี้ภาพรวมการค้าไทย-รัสเซียยังปกติ แต่ผู้ประกอบการมีความกังวลเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศที่ทางสหรัฐฯออกมาบอกว่าทางรัสเซียอาจจะปิดระบบการโอนเงินระหว่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งส่วนนี้ภาคเอกชนคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นนั้น มีโอกาสที่จะแตะที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งแน่นอนว่า กระทบกับราคาน้ำมันทั่วโลก ก็ต้องติดตามดูว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยืดเยื้อหรือไม่

 

“ตอนนี้เอกชนก็มอนิเตอร์ผลกระทบอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ไทยต้องเป็นกังวลคือ ต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น บรรยากาศการค้าการลงทุนทั่วโลกที่ไม่เฉพาะที่ไทยอาจจะมีการชะลอเพื่อรอดูความชัดเจนว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ และนาโต้จะออกมากดดันให้ทั่วโลกเลือกข้างหรือไม่ แต่เบื้องต้นคิดว่าน่าจะไม่เกิดขึ้น”

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

หวั่นน้ำมันพุ่งอีกลิตรละ 6 บาท

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ต้องติดตามใกล้ชิดว่าต่อไปถ้าเกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบ จะส่งกระทบกับราคาน้ำมันในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จะกระทบราคาน้ำมันขายปลีกในไทยลิตรละ 20 สตางค์ ถ้าราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นไปถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล คาดว่าจะกระทบราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับขึ้นลิตรละ 6 บาท แต่ก็เชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมารองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3761 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2565