เปิดแพ็กเกจ EV รถยนต์ไฟฟ้า 4 ประเภท ได้ลดภาษี-เงินอุดหนุน กี่บาท

15 ก.พ. 2565 | 10:26 น.

เปิดแพ็กเกจรถยนต์ EV หลังผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.เรียบร้อย มีมาตรการสนับสนุน 4 ประเภท ทั้งการลดภาษี และการให้เงินอุดหนุน เช็ครายละเอียดได้ที่นี่

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ หรือ รถยนต์ EV

 

โดยเฉพาะประเภทแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) โดยมีทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี มีระยะเวลาในช่วงแรกระหว่างปี 2565 - 2568

 

จากการตรวจสอบข้อมูลที่นำเสนอครม.ครั้งนี้ พบว่า ได้มีการกำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เอาไว้ โดยจะสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภท BEV มีราคาลดลงใกล้เคียงกับรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน

 

ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ด้วย

 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรการนี้ได้มีข้อสรุป โดยแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

 

1. กรณีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท

 

มาตรการภาษี

 

  • ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565 – 2566  

- การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี แยกเป็น 2 กรณี คือ 

  1. กรณีมีอัตราอาหารไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร 
  2. กรณีอัตราอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 40%

- การนำเข้าทั่วไปตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ให้ได้รับการลดอัตราอากรจาก 80% เหลือ 40%

  • ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565 - 2568

มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี

  • เงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับ รถยนต์นั่งฯ ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง 
  • เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่งฯ ที่มีขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

 

ทั้งนี้ให้ครอบคลุมทั้งกรณีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

2. กรณีรถยนต์นั่งฯ ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำ มากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท

 

มาตรการภาษี

 

  • ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565 - 2566 

- การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษ ทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี แยกเป็น 2 กรณี คือ 

  1. กรณีมีอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
  2. กรณีอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 20% 

- การนำเข้าทั่วไปตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ให้ได้รับการลดอัตราอากร จาก 80% เหลือ 60% 

  • ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565 – 2568

 

3.กรณีรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนําไม่เกิน 2 ล้านบาท

 

มาตรการไม่ใช่ภาษี

  • เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน เฉพาะรถยนต์ กระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

 

4.กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท

 

มาตรการภาษี

 

  • กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% สำหรับรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด

 

มาตรการไม่ใช่ภาษี

 

  • เงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งกรณี CKD และ CBU 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมการผลิตในอีก 2 กรณี คือ


1.การผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ในปี 2565 – 2568

 

อนุมัติให้มีการนับมูลค่าของ Cell แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสำหรับ การนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ สำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคา BEV หน้าโรงงาน เพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ ให้เกิดขึ้นในประเทศ 

 

2. สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผลิตหรือประกอบภายในประเทศ

 

เห็นควรส่งเสริมให้ใช้ชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงระยะเวลา ในปี 2565 – 2568 ประกอบด้วย แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction Gear

 

รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว ให้ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 12 โดยให้สถาบันยานยนต์เป็นผู้รับรองชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนย่อยเพื่อลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมต่อไป

 

อย่างไรก็ตามมติครม.ครั้งนี้ ยังได้เห็นชอบให้กรมสรรพสามิต ขอรับจัดสรรจากงบกลาง ในวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการสนับสนุนดังกล่าว และสั่งการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเสนอแนะแนวทางการจัดหาแหล่งงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อดำเนินมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2565 – 2568 วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท ต่อไป