TPIPP เลิกใช้ถ่านหินปี 69 ขายคาร์บอนเครดิตหนุนรายได้โต

12 ก.พ. 2565 | 06:07 น.

TPIPP ประกาศชัด เลิกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ในปี 2569 ป้อนเชื้อเพลิงขยะเข้ามาทดแทน ช่วยหนุนรายได้เพิ่ม จากการขาย Carbon Credit เป็น 12.45 ล้านตันต่อปี พร้อมเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าขยะต่อเนื่องตั้งเป้ามีกำลังผลิต 526 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2567

 

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทมีนโยบายสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ไว้ในปี 2593 ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสกอตแลนด์ และได้สัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 46 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยกำลังถูกพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัทที่ผ่านมา ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้ประมาณ 6.61 ล้านตันต่อปี จากการใช้ขยะในการผลิตไฟฟ้า และยังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ ให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% โดยจะใช้เชื้อเพลิงขยะเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน 100% ได้ในปี 2569 นี้ และจะส่งผลให้บริษัทจะมี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้ประมาณ 12.45 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

 

 “บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อขาย Carbon Credit จะส่งผลให้บริษัทมีกำไรสูงขึ้นในอนาคต เพื่อทดแทนรายได้จากโรงไฟฟ้าที่หมดอายุลง 70 เมกะวัตต์ โดยในปี 2565 นี้ บริษัทมีแผนปรับลดการใช้ถ่านหินลง 50% หรือสามารถลดการใช้ถ่านหินได้ 970 ตันต่อวัน โรงผลิตปูนซีเมนค์เริ่มทยอยเปลี่ยนสายการผลิตอีก 3 สายแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2565”

 

ภัคพล  เลี่ยวไพรัตน์

 

 

นายภัคพล กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางการลงทุนนั้น TPIPP ยังเดินหน้ามุ่งขยายกำลังการผลิตและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์ 3-5 ปี ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 526 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยระยะที่ 2 ของเทศบาลนครนครราชสีมา กำลังการผลิตติดตั้ง 12 เมกะวัตต์ ระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา 20 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายได้ในเดือนเมษายน 2566 และโครงการโรงไฟฟ้าขยะองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา 20 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายได้ในเดือนเมษายน 2566 โดย 2 โครงการนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมความพร้อมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ที่กระทรวงมหาดไทยจะทยอยเปิดประมูลต่อเนื่องในปีนี้อีก 9 โครงการ รวมกำลังผลิต 89.1 เมกะวัตต์ (โครงการละ 9.9 เมกะวัตต์) อีกด้วย

 

ขณะที่ผลประกอบการในปี 2565 ยังคงดีต่อเนื่องจากค่า FT ของค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้น 19.26 สตางค์ต่อหน่วย และการปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อต้มน้ำ (Boiler) ทุกหม้อ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการใช้วัตถุดิบของหม้อต้มน้ำถ่านหิน โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้รวมทั้งปีที่ 12,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2564 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีโรงไฟฟ้าที่สิ้นสุดรายได้จากอัตราส่วนเพิ่มค่ารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในปี 2565 ทั้งสิ้น 2 โรง รวมกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ ก็ตาม

 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,757 วันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565