ค่าขนส่งจ่อขึ้นอีก 20% ทัพสินค้าขยับ ปรับราคาระลอกใหญ่

11 ก.พ. 2565 | 20:40 น.

สหพันธ์การขนส่งฯ ลั่น ปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% ดีเดย์ 15 ก.พ. จี้รัฐเร่งปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ขณะสินค้าชักแถว จ่อปรับขึ้นอีกระลอกใหญ่ 45 กลุ่มอุตฯระบุอึดได้อีกแค่ 1-2 เดือน “ไปรษณีย์ไทย” โอดต้นทุนพุ่งเร่งเพิ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้า สมาคมค้าปลีกประกาศตรึงราคาให้ได้ 1 ไตรมาส

 

ราคาสินค้าและบริการขยับปรับแพงขึ้นทั่วประเทศ ทั้งหมูแพง สินค้าอุปโภคบริโภคแพง ผู้ค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านขายอาหารสำเร็จรูป ปรับขึ้นพรึ่บ อ้างเหตุผลต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเหนือ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หลายฝ่ายคาดการณ์อาจขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในเร็ว ๆ นี้ ล่าสุดสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ประกาศเตรียมปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 15-20% หลังข้อเรียกร้องกระทรวงพลังงานให้ปรับลดราคาดีเซลเหลือ 25 บาทต่อลิตรไม่เป็นผล คาดจะกระทบราคาสินค้าและบริการปรับขึ้นอีกระลอกใหญ่นับจากนี้

 

ดีเดย์ขึ้นค่าขนส่ง 15-20%

 

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เบื้องต้นทางสมาพันธ์ฯ มีแผนจะประกาศปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 15-20% โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ สาเหตุปรับขึ้นค่าขนส่งในอัตราดังกล่าว เนื่องจากจุดคุ้มทุนของการขนส่งอยู่ที่ราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร

 

อภิชาติ  ไพรรุ่งเรือง

 

“การประกาศปรับขึ้นค่าขนส่งในครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใดทั้งสิ้น เพราะเราเป็นหน่วยงานอิสระ หากราคาน้ำมันมีการปรับลดลงในอนาคต ก็จะมีการปรับลดค่าขนส่งลงแบบขั้นบันได แต่ที่เราห่วงคือเมื่อปรับค่าขนส่งไปแล้ว ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตาม แต่เมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าไม่ปรับลดลงตาม นี่คือสิ่งที่เราไม่อยากทำ”

 

ที่ผ่านมาสหพันธ์ฯมีข้อเสนอแนะทางออกให้กับภาครัฐแล้ว แต่ยังไม่เห็นภาครัฐพิจารณาข้อเสนอฯ เช่น ให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงตาม รวมทั้งให้ภาครัฐลดการนำไบโอดีเซลมาเป็นส่วนผสมน้ำมันดีเซลชั่วคราว เพื่อให้ราคาน้ำมันปรับลดลงราว 2-3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันพบว่าราคาไบโอดีเซลสูงถึง 50 กว่าบาทต่อลิตร ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันอยู่ที่ 21 บาทต่อลิตร

 

“การแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงของกระทรวงพลังงาน เวลานี้ไม่เห็นมีการดำเนินการอย่างไรเพิ่มเติม จะให้เราทำอย่างไร จะอุ้มแต่กลุ่มนายทุนไม่ได้ ไม่งั้นประชาชนก็จะเดือดร้อน เราทำได้ทางเดียวคือจัดชุมนุมเพื่อขับไล่ ทั้งนี้จะยกระดับการชุมนุมต่อไปอย่างไรนั้นคงต้องรอดูสถานการณ์ แต่จะประกาศปรับขึ้นค่าขนส่งก่อน”

 

ค่าขนส่งจ่อขึ้นอีก 20% ทัพสินค้าขยับ ปรับราคาระลอกใหญ่

 

 

45 กลุ่มอุตฯจ่อปรับราคา 1-2 เดือน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากค่าขนส่งปรับขึ้น โดยที่ภาครัฐไม่สามารถยับยั้งได้ (ค่าขนส่งไม่อยู่ในรายการสินค้าและบริการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์) จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า ที่ค่าขนส่งคิดเป็นต้นทุนประมาณ 10-15% จากเดิมผู้ผลิตสินค้าทั้งที่จำหน่ายในประเทศ และส่งออกมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากราคาวัตถุดิบ และเร็ว ๆ นี้ ค่าไฟฟ้าอาจปรับขึ้นตามมา

 

ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ที่ยังมีสต๊อกวัตถุดิบเก่าในราคาเดิมคาดจะช่วยตรึงราคาสินค้าได้อีก 5-6 เดือน แต่จากค่าขนส่งที่จะปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้การตรึงราคาอาจลดลงเหลือ 2-3 เดือนนับจากนี้เท่านั้น ซึ่งหากเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ (ปัจจุบันมี 56 รายการ) ก็ต้องนำข้อมูลเหตุผลความจำเป็นไปยื่นขออนุญาตปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ถ้าไม่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมก็สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามความเหมาะสม เพราะหากปรับขึ้นมาก ผู้บริโภคไม่ซื้อหรือซื้อน้อยจากเวลานี้มีกำลังซื้อต่ำ ก็จะส่งผลต่อยอดขายที่ลดลงได้

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“เวลานี้เห็นใจทุกฝ่ายที่ต้องแบกรับภาระโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มากกว่า 80% ของความต้องการใช้เราต้องนำเข้า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาครัฐก็จำเป็นต้องนำเงินไปใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวนมาก พอสถานการณ์โควิดดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลายก็มาเจอเรื่องน้ำมันแพง ราคาสินค้าและบริการแพง ค่าครองชีพสูง ซึ่งกว่าสิบปีก่อนหน้านี้น้ำมันดิบตลาดโลกเคยขึ้นไปถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล(ปี 2551) ตอนนั้นค่าอาหารยังไม่แพง แต่ปีนี้มี 3 เรื่องเกิดขึ้นพร้อมกันคือ 1.ราคาและต้นทุนอาหารสด ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น 2.น้ำมันขาขึ้น และ 3.รายได้ผู้บริโภคหด ทำให้ผลกระทบของปัญหารุนแรงมากกว่า”

 

สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารส.อ.ท. (FTI POLL) 150 ราย ในหัวข้อภาคเอกชนจะช่วยตรึงราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นได้นานแค่ไหน จากผลกระทบขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มเพิ่มขึ้น โดย 40.0% ระบุจะตรึงราคาได้นานอีก 1-2 เดือน, 30.7% ตรึงได้อีก 3-4 เดือน และ 16.7% มากกว่า 6 เดือน

 

ไปรษณีย์ไทยเพิ่มใช้ EV

นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งสูงขึ้นกว่า 30% ในระยะสั้น ไปรษณีย์ไทยปรับเปลี่ยนโอเปอเรชั่นบางส่วน ทำให้เส้นทางการขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนในระยะกลางถึงยาวจะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ผ่านมาได้ทดลองใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยปีนี้จะนำมาใช้เพิ่มอีก 250 คัน สำหรับใช้ในการจัดส่งพัสดุให้ลูกค้า คาดว่าการเปลี่ยนมาใช้ EV จะช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 30% ในอนาคต

 

“เคอรี่”ยอมแบกหวังยาว

นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น เป็น 1 ใน 20 ต้นทุนธุรกิจที่บริษัทต้องดูแล โดยบริษัทยังมีต้นทุนการดูแลพนักงาน ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดโควิดที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนเงินจูงใจให้พนักงานทำงานกับบริษัท ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจในต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่ราคาต่ำลง อย่างไรก็ตามบริษัทลงทุนทำธุรกิจระยะยาว ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการลงทุน เพื่อสร้างการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เมื่อถึงจุดหนึ่งรายได้จากบริการต่อยูนิต (หน่วย) จะเพิ่มขึ้น คาดจะอยู่ในระยะเวลา 2 ปี

 

วราวุธ  นาถประดิษฐ์

 

ส.ค้าปลีกผนึกซัพพลายเออร์ตรึง 1ไตรมาส

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อเนื่อง ขณะที่การปรับขึ้นราคาน้ำมัน และราคาสินค้าต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อชะลอตัวต่อเนื่อง ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองว่าการตรึงราคากับการหาสินค้ามาทดแทนเป็นสิ่งจำเป็น จึงพยายามทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อให้สามารถตรึงราคาต่อไปได้

 

“มีความไม่แน่นอนอยู่มาก ต้องรอดูเป็นรายไตรมาส และจะพยายามตรึงราคาให้ได้ตลอดไตรมาส 1 นี้ จากนั้นต้องมาดูอีกที อย่างไรก็ดีปัญหาราคาน้ำมันเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ถ้าลากยาวจะกระทบมาก การใช้พลังงานจะลดลง ที่ผ่านมาไทยพึ่งพาน้ำมันในปริมาณที่สูงมาก สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งคือ มาตรการเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เร็วขึ้น หากเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจน คนจะกล้าเปลี่ยนมาใช้รถ EV มากขึ้น”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3757 วันที่ 13 – 16 กุมภาพันธ์ 2565