กฟผ.ทุ่ม1 แสนล้าน ลุยโซลาร์ลอยน้ำ-ปลูกป่าล้านไร่

03 ก.พ. 2565 | 07:34 น.

กฟผ. กางแผน Carbon Neutrality ผ่านกลยุทธ์ “Triple S” ลุยลงทุน HydroFloating Solar Hybrid ตั้งเป้าปี 79 กำลังผลิตรวม 5,325 เมกะวัตต์ กว่า 5.8 หมื่นล้านบาท ทุ่มหมื่นล้านปลูกป่าดักจับคาร์บอนฯ สร้างสายส่งอัจฉริยะ 32,505 ล้านบาท รองรับพลังงานหมุนเวียน รุกขยายสถานีอัดประจุ 70 แห่ง

 

นางสาวจิราพร  ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. พร้อมผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและได้กำหนดนโยบายมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่ 1.Sources Transformation หรือการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ (HydroFloating Solar Hybrid) และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 9 แห่ง

 

กฟผ.ทุ่ม1 แสนล้าน ลุยโซลาร์ลอยน้ำ-ปลูกป่าล้านไร่

 

การดำเนินงานในปี 2565 นี้จะดำเนินการติดตั้งที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 850 ล้านบาท และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ในปี 2566 หลังจากดำเนินโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ไปแล้ว ด้วยเงินลงทุน 2,265 ล้านบาท และจะทยอยลงทุนติดตั้ง Hydro Floating Solar Hybrid ตามโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่าง ๆ โดยในปี 2579 จะมีปริมาณสะสมรวม 5,325 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท

 

กฟผ.ทุ่ม1 แสนล้าน ลุยโซลาร์ลอยน้ำ-ปลูกป่าล้านไร่

 

รวมถึงการดำเนินงานด้าน Grid Modernization ที่ปีนี้จะลงทุนก่อสร้างสายส่งเพื่อรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 20% ซึ่งจะส่งผลให้เป็นโครงข่ายไฟฟ้ามีความทันสมัยและยืดหยุ่นสามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมได้อย่างมั่นคง ใช้งบลงทุนราว 32,505 ล้านบาท อีกทั้ง การใช้เทคโนโลยีทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในอนาคตมีแผนที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน 66,000 ล้านหน่วย

 

2.Sink Co-creation หรือการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ( 2565-2574) ซึ่งจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ใช้เงินลงทุนราว 11,438 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีแผนที่จะปลูกป่า 30,000 ไร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (KtCO2)

 

กฟผ.ทุ่ม1 แสนล้าน ลุยโซลาร์ลอยน้ำ-ปลูกป่าล้านไร่

 

นอกจากนี้ เป็นการดำเนินงานด้าน Carbon Capture Utilization and  Storage (CCUS) หรือการลงทุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนนำไปใช้ประโยชน์และการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในปีนี้จะทำการเริ่มศึกษาออกแบบเทคโนโลยี CCUS โดยมีเป้าหมายที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ CO2 ในปี 2588 และจะช่วยดักจับ CO2 ในปริมาณ 3.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปี 2593

 

 3.Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดยดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้า และช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 มีเป้าหมายที่ละการปล่อยคาร์บอนฯได้ 9.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าในปี 2593 ซึ่งในปี 2565 มีเป้าหมายดำเนินงานลดปล่อย CO2 ได้ราว 2.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

รวมถึงการดำเนินงานด้าน Bio-Circular-Green (BCG) Economy ที่ในปีนี้จะศึกษาศักยภาพของ กฟผ. ในการจัดทำ Circular Economy ในองค์การ เพื่อนำไปสู่ประยุกต์ใช้หลักการ BCG Model เพื่อลดการปล่อย CO2 ที่คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 0.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าในปี 2593

 

นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานอื่น ๆ ที่สนับสนุน Low Carbon ไม่ว่าจะเป็น EV Business Solutions ซึ่งในปี 2565 นี้จะขยายสถานีอัดประจุ 70 สถานี นำระบบ Central Charging PointOperator Platform เข้าใช้งาน ใช้งบลงทุนราว 148 ล้านบาท การสร้างศูนย์เรียนรู้ EGATEnergy Excellence Center (EGAT-EEC) ใช้งบ 258.5 ล้านบาท

 

รวมทั้งการพัฒนาโรงงาน Repurpose Battery ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาโรงงานฯ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท และพัฒนาโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อยู่ระหว่างขออนุมัติและดำเนินการก่อสร้างโรงงานฯ  วงเงิน 1,028 ล้านบาท รวมถึง Green Energy Trading หรือการซื้อขายพลังงานสีเขียว ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับลูกค้า ใช้งบลงทุน 930 ล้านบาท เป็นต้น

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ 2565