กรมชลฯจัดรับฟังความเห็น ร่วมทุนเพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพลฯ ช่วยอีก1.6 ล้านไร่

01 ก.พ. 2565 | 10:34 น.

กรมชลฯ จัดประชุมรับฟังความเห็นสาธารณะโครงการศึกษาวิเคราะห์ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป้าหมายเพื่อวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมของการร่วมลงทุน เล็งช่วยพื้นที่การเกษตรช่วงฤดูแล้งได้เพิ่มอีก 1.6 ล้านไร่

 

นายเฉลิมเกียรติ  คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ว่า โครงการฯ ดังกล่าว เป็นการสานต่อความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรด้านต่าง ๆ ทำให้เขื่อนภูมิพลมีพื้นที่ว่างเพียงพอที่จะรับน้ำผันจากลุ่มน้ำยวมมาเติมได้เฉลี่ยปีละ 1,834 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

 

กรมชลฯจัดรับฟังความเห็น ร่วมทุนเพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพลฯ ช่วยอีก1.6 ล้านไร่

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ชลประทานแม่ปิงตอนล่างในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่โครงการเจ้าพระยาอีก 26 โครงการ คาดว่าจะทำให้มีพื้นที่การเกษตรฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 1.61 ล้านไร่ อีกทั้งลำน้ำยวม ถือเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่ดีและเหมาะสมที่จะนำไปเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลได้ โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำยวมเอง เนื่องจากเป็นการนำน้ำส่วนเกินที่มักจะทำให้เกิดอุทกภัยไปใช้ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินและประเทศเมียนมาตามลำดับ

 

กรมชลฯจัดรับฟังความเห็น ร่วมทุนเพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพลฯ ช่วยอีก1.6 ล้านไร่

 

สำหรับผลการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล พ.ศ. 2561 ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พ.ศ. 2564 ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงมาก จึงต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ให้ครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อพิจารณารูปแบบทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสม การประชุมในวันนี้ จึงเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

กรมชลฯจัดรับฟังความเห็น ร่วมทุนเพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพลฯ ช่วยอีก1.6 ล้านไร่

 

ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ เอกชน ประชาชนและกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และพิจิตร เพื่อนำมาวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมของการร่วมลงทุน โดยพิจารณาถึงความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่ภาครัฐและประชาชนส่วนใหญ่ จะได้รับจากการดำเนินแนวทางดังกล่าวให้มากที่สุดเป็นสำคัญ

 

การศึกษาครั้งนี้เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ชึ่งระบุว่าต้องจ้างที่ปรึกษามาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งผลการศึกษานี้จะนำไปเป็นส่วนหนึ่ง ที่รัฐบาลจะใช้ในการพิจารณาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการต่อไป