ยกระดับมาตรฐานฟาร์มหมู การบริโภคเชิงคุณภาพ ของดีที่ต้องจ่ายเพิ่ม

31 ม.ค. 2565 | 11:28 น.

อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์ นักวิชาการอิสระ เขียนบทความเรื่อง การบริโภคเชิงคุณภาพ มีราคาที่ต้องจ่าย เฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนคนเลี้ยงหมูที่เพิ่มขึ้นจากโรคอหิวาต์แอฟริกาที่ต้องยกระดับมาตรฐานฟาร์มเพื่อความปลอดภัย

 

ได้อ่านบทความเรื่อง “เมื่อหมูแพง ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ” ของ ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA) แล้ว เห็นด้วยอย่างยิ่งกับสิ่งที่อาจารย์นำเสนอ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “...กระแสการบริโภคจะเปลี่ยนไปจากการบริโภคเชิงปริมาณ (Quantity Consumption) เป็นการบริโภคเชิงคุณภาพ (Quality Consumption) ราคาของสินค้าที่ผู้บริโภคเต็มใจจ่าย ให้น้ำหนักกับคุณภาพของสินค้ามากขึ้น อย่างเช่นผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะยอมจ่ายซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นมาก เพื่อแลกกับคุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้น เป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เป็นต้น ... การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นมิติหนึ่งของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ผู้ผลิตรวมทั้งภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต ต้องปรับให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหมายถึงการที่ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น...”

 

ยกระดับมาตรฐานฟาร์มหมู การบริโภคเชิงคุณภาพ ของดีที่ต้องจ่ายเพิ่ม

 

ใช่แล้วครับ ทุกอย่างมีต้นทุน มีราคาที่ต้องจ่าย และของดีมีคุณภาพ ย่อมไม่ใช่ของราคาถูก!!

 

ราคาหมูก็เช่นกัน เมื่อไหร่คนไทยจะเลิกคิดว่า หมูต้องถูก สินค้าเกษตรห้ามแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปัจจัยสำคัญมากระทบปริมาณผลผลิต เช่น โรคระบาด ASF ที่เข้ามาสร้างความเสียหาย ทำให้ไทยเหลือปริมาณหมูขุนเพียง 14.7 ล้านตัว จากปี 2563 ที่มีการผลิตหมูประมาณ 20.45 ล้านตัว และเชื่อว่ากว่าปริมาณหมูมีชีวิตจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ อาจต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 ปี เราจึงได้เห็นราคาหมูแพงขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาด ของน้อย ความต้องการสูง ราคาก็แพง วันใดที่ปริมาณของมากเกินกว่าความต้องการ ราคาย่อมตกต่ำ

 

แต่เมื่อปัจจัยสำคัญที่ส่งผลถึงปริมาณผลผลิตคือ “โรคระบาด” ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และสร้างวิถีปกติใหม่ให้เกิดขึ้น ไม่ต่างจากโควิด-19 ที่ระบาดในหมู่มนุษย์ทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิด New Normal ที่แตกต่างไปจากเดิม

 

โรค ASF ก็เช่นกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะมีวิถีปกติใหม่ที่ต้องปฏิบัติ นั่นคือจำเป็นต้องยกระดับฟาร์มของตนให้เข้าสู่ฟาร์มมาตรฐาน GFM : Good Farming Management คือเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม ยกระดับการเลี้ยง การจัดการให้สัตว์มีความปลอดภัยทางชีวภาพ มีระบบการบันทึกข้อมูล มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพื่อให้ได้ปศุสัตว์และผลผลิตที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

ยกระดับมาตรฐานฟาร์มหมู การบริโภคเชิงคุณภาพ ของดีที่ต้องจ่ายเพิ่ม

 

ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ระบุในบทความของเธอว่า การแก้ปัญหาโรคระบาดด้วยการวางมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นเป็นสิ่งจำเป็น หากทำฟาร์มหมูแบบเดิม “คงไม่รอด” ดังนั้น ทิศทางของฟาร์มหมูในอนาคตจึงจะเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มทั้งหมด ซึ่งดีกับทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ประเด็นคือ “ต้นทุนการดูแลหมูให้ดี” นั้นเป็นต้นทุนที่สูงมาก” ไม่ว่าจะเป็นการเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีและแข็งแรง การสร้างโรงเรือนระบบปิด การเลือกใช้อาหารที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนระบบป้องกันโรคที่ต้องเข้มงวดทั้งกับสัตว์และแรงงานในฟาร์ม รวมถึงรถขนส่งต่าง ๆ ที่ต้องมีการฆ่าเชื้อ ทั้งรถทั้งคน สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ต้องจ่ายเพื่อผลิตหมูที่ดีมีมาตรฐาน

 

ซึ่งน่าจะหมายความว่าราคาหมูจะไม่ปรับลดลงไปที่ระดับเดิมได้อีก  

 

จริงอยู่...ปัจจุบันมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับหมูคุณภาพ หมูที่ได้รับการเลี้ยงอย่างปลอดภัย ในโรงเรือนระบบปิดที่ป้องกันโรคได้ หมูที่ได้รับมาตรฐานหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือหมูที่ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนี้ยินดีจ่าย เพื่อให้ได้ของดีมีคุณภาพสำหรับตนเองและครอบครัว ส่วนใหญ่จะซื้อหมูมีแบรนด์ในซูเปอร์มาร์เก็ตติดแอร์  

 

แต่นับแต่นี้ไป เกษตรกรทั้งหมดต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงหมู เพื่อนำไปสู่การผลิตเนื้อหมูปลอดภัย ภายใต้การลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงหมูที่จำเป็นต้องมีระบบไบโอซีเคียวริตี้ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจากการกู้หนี้ยืมสินสถาบันการเงิน ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนของเกษตรกรที่ต้องแลกกับความเสี่ยงเรื่องโรค รวมถึงความไม่แน่นอนของราคาขายที่มักถูกกำหนดเพดานราคา  

 

กล่าวได้ว่าในอนาคต หมูในตลาดไม่ว่าจะเป็นของเกษตรกรรายเล็ก หรือของรายใหญ่มีแบรนด์ก็ล้วนเป็นหมูที่มีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารและมาตรฐานด้านสุขอนามัยให้ผู้บริโภค (อาจแตกต่างกันไปตามระดับความพรีเมี่ยมของแต่ละตลาด)

 

แน่นอนว่า “ผู้บริโภค” อีกส่วนหนึ่ง จำเป็นต้องเรียนรู้และยอมรับว่า “ของดีย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย” พร้อมๆกับล้มเลิกแนวคิดที่ว่า “สินค้าเกษตร” ต้องมีราคาถูก รวมทั้งเรียนรู้ให้ “กลไกตลาด” เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดสมดุลความต้องการบริโภคกับปริมาณผลผลิตว่าราคาหมูควรจะอยู่ที่จุดใด  

 

แต่วันที่สมดุลซัพพลายดีมานด์ของหมูจะเกิดขึ้นได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องมั่นใจก่อนว่า เมื่อลงทุนเลี้ยงหมูแล้วจะสามารถขายหมูได้ในราคาที่สะท้อนต้นทุนการผลิตหมูที่แท้จริง เป็นราคาขายตามกลไกตลาด ไม่ใช่ถูกควบคุมดังเช่นอดีต ไม่เช่นนั้น กว่าปริมาณหมูบ้านเราจะเข้าสู่ภาวะปกติได้คงต้องยืดเวลาออกไปอีกนาน