ปตท.สผ.ทุ่ม 1.7 หมื่นล้าน ลงทุนกักเก็บคาร์บอน สู่เป้าลดการปล่อย 25%

30 ม.ค. 2565 | 04:15 น.

ปตท.สผ. เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุ่มงบลงทุน 1.74 หมื่นล้านบาท ลุยโครงการดักจับ CO2 และนำไปกักเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์ ตั้งเป้าปี 2573 ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้ 25 %

 

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ผู้จัดการใหญ่ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน ก้าวข้ามความท้าทายในยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพลังงาน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทให้ได้อย่างน้อย 25 % ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2555 โดยสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ปตท.สผ.สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 16.6 %

 

 

ปตท.สผ.ทุ่ม 1.7 หมื่นล้าน ลงทุนกักเก็บคาร์บอน สู่เป้าลดการปล่อย 25%

 

การดำเนินงานเพื่อให้ไปสู้เป้าหมายดังกล่าว บริษัทกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture Storage & Utilization หรือ CCS & CCU) โดยในช่วง 5 ปี (2565-2569) จะใช้งบลงทุนราว 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 17,420 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็น โครงการการดักจับและจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storageหรือ CCS) ประมาณ ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 10,050 ล้านบาท และโครงการนำคาร์บอนไปใช้ประโยชน์(Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) อีกราว 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7,370 ล้านบาท

 

สำหรับโครงการ CCS บริษัท ได้ได้เริ่มทดลองทำการดักจับและจัดเก็บคาร์บอนอัดกลับไปในชั้นที่แหล่งอาทิตย์ บริเวณพื้นที่อ่าวไทย กับแหล่งลัง เลอบาห์ (โครงการซาราวัก เอสเค 410 บี) ประเทศมาเลเซีย ขณะที่โครงการ CCU อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แนวทางการใช้ก๊าซส่วนเกินจากกระบวน การผลิตที่จะเผาทิ้งเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิตท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotube from Flare Gas) ซึ่งทั้ง 2 โครงการดังกล่าวถือเป็นการวางรากฐานกำหนดเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ที่สำคัญ

 

นายมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการดำเนินงานของบริษัท จากที่วางงบการลงทุนไว้ช่วง 5 ปี ( 2565-2569) ประมาณ 27,164 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9.1 แสนล้านบาท จะมีในเรื่องของการลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) มากขึ้น เพื่อรองรับช่วงการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงาน (Energy Transition) เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต อาทิ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี, ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 600 เมกะวัตต์ ในเมียนมา พลังงานหมุนเวียน (ลมและแสงอาทิตย์) ที่จะลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ โดยจัดตั้ง บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด และบริษัท ฟิวเจอร์เทค โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต และการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ อาทิ ไฮโดรเจน เป็นต้น

 

รวมถึงจะพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้นำไปใช้ได้จริงหรือใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ได้อย่างน้อย 10 โครงการ และมีมูลค่าผลตอบแทนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2567

 

จากการดำเนินงานควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก จะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ในช่วง 5 ปี (2565-2569 ) เฉลี่ยปีละประมาณ 5% ได้ โดยสิ้นสุดปี 2569 ประมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัท จะเพิ่มขึ้นปอยู่ที่ 528,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากปี 2565 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 467,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการลงทุนในปีนี้ราว 5,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  3753 วันที่ 30 ม.ค. – 2 ก.พ. 2565