APA ทุ่ม50ล้านม.พายัพ วิจัยสกัดกัญชง-กัญชาด้วยเทคนิคใหม่"ไบโอรีแอคเตอร์"

27 ม.ค. 2565 | 10:58 น.

    ม.พายัพ รับทุนจาก APA หนุนวิจัย ห้อง Lab ครุภัณฑ์มาตรฐานสากล พร้อมทุนการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก งบกว่า 50 ล้าน เพื่อนวัตกรรมใหม่การสกัด ด้วยเทคนิคไบโอรีแอคเตอร์ ครั้งแรกในไทย เพื่อสกัดผลิตสารออกฤทธิ์จากเซลล์ของกัญชากัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565  มหาวิทยาลัยพายัพ ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับบริษัทแอ๊บป้า อินดัสตรีส์ จำกัด  ดำเนินโครงการ “การผลิตและการใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม  และพืชสมุนไพร โดยเทคนิคไบโอรีแอคเตอร์ เพื่อใช้ในอาหารเสริม เครื่องสำอาง  ยารักษาโรคและเครื่องดื่ม”

 

โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์อภิชา อินสุวรรณ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ และคุณประพนธ์  กุลไพศาล ประธานกรรมการบริหารบริษัท แอ๊บป้า อินดัสตรีส์ จำกัด(APA) ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี อาคารปฐมกาล มหาวิทยาลัยพายัพ

APA ทุ่ม50ล้านม.พายัพ วิจัยสกัดกัญชง-กัญชาด้วยเทคนิคใหม่"ไบโอรีแอคเตอร์"  

APA ทุ่ม50ล้านม.พายัพ วิจัยสกัดกัญชง-กัญชาด้วยเทคนิคใหม่"ไบโอรีแอคเตอร์"

โดยจะสนับสนุนห้องปฏิบัติการ  อุปกรณ์ไบโอรีแอคเตอร์ที่ทันสมัย บุคลากร รวมถึงทุนการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หลักสูตรกัญชาศาสตร์และพืชสมุนไพรเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยยกระดับการผลิตสารสกัดและการใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ประชาชน

 

นายอภิชา  อินสุวรรณ  รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ เผยว่า ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้กัญชงและกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนระดับแนวหน้า เล็งเห็นประโยชน์ของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกับบริษัทแอ๊บป้า อินดัสตรีส์จำกัด (APA) เป็นหน่วยงานภาคี ร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้

 

APA ทุ่ม50ล้านม.พายัพ วิจัยสกัดกัญชง-กัญชาด้วยเทคนิคใหม่"ไบโอรีแอคเตอร์"

โดย APA จะให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัย เรื่อง การผลิตสารออกฤทธิ์จากเซลล์ของกัญชา กัญชงและพืชสมุนไพรอื่นโดยเทคนิคไบโอรีแอคเตอร์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ อาหารเสริม เครื่องสำอาง และเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยการสนับสนุนในครั้งนี้ ยังรวมถึงการมอบทุนการศึกษาในหลักสูตรกัญชาศาสตร์และพืชสมุนไพรเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นหลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยพายัพอีกด้วย

 

ด้านนายประพนธ์ กุลไพศาล ประธานกรรมการบริหารบริษัท แอ๊บป้า อินดัสตรีส์ จำกัด ได้เผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิตและนำเข้าบรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 และได้เล็งเห็นถึงแนวทางในการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพรเพื่อให้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม รวมทั้งเครื่องสำอาง มาจนถึงจุดอิ่มตัวก็เลยมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่จะเข้ามา 
    

 

ประกอบกับได้มารู้จักกับดร.ธนะชัย  พันธ์เกษมสุข  เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตสารออกฤทธิ์ต่างๆจากพืชมีปริมาณมากขึ้น มีแนวทางที่จะทำการวิจัยทางด้านกัญชง กัญชาเลยสนใจ กัญชา กัญชง กำลังเป็นที่โด่งดังและมีความต้องการในตลาดมาก เพราะสามารถแก้ไขโรค อาการ ต่างๆ แม้กระทั่งทางด้านเครื่องสำอาง ก็ยังสามารถบำรุงผิวพรรณได้ดี คิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ มาร่วมมือกัน เพื่อจะมาทำโปรเจ็คนี้ขึ้นมา
    

ตามแผนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะทำการวิจัยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สารออกฤทธิ์ ตามเป้าหมายที่วางไว้ สำเร็จแล้วจะมีการร่วมมือกันผลิตและจำหน่าย ระยะเวลาความร่วมมือกัน 7 ปีก่อน ถ้าในอนาคตไปได้ดีก็อาจจะต่อไปเรื่อย ๆ และยังมีแผนวิจัยสารอื่น ๆ อีก ไม่ใช่เฉพาะแค่สารจากกัญชง กัญชา อนาคตภายใน 2-3 ปี อาจจะมีการตั้งโรงงานที่จะผลิตยาสมุนไพร เครื่องสำอาง อาหารเสริมจากกัญชง กัญชา หรือถ้าการวิจัยสำเร็จเร็วก็จะสามารถดำเนินการได้เลย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100-200 ล้านบาท
    

โดยทาง APA ยินดีสนับสนุนงบประมาณ 50 กว่าล้านบาท เพื่อใช้ในการวิจัยในโครงการนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเพาะเลี้ยง การสกัดสารสำคัญ และการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมของพืชดังกล่าว อันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเป็นส่วนสำคัญสำหรับการแพทย์ทางเลือก อีกทั้งให้ประชาชนทุกระดับได้รับประโยชน์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีรูปแบบกระบวนการพัฒนาให้ครบวงจร 

 

ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการระบบบริการสุขภาพ และการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับองค์ความรู้และบริบทต่าง ๆ ในปัจจุบันด้วย สำหรับขอบเขตของการสนับสนุนมหาวิทยาลัยพายัพนั้น ได้แก่ การสร้างห้องปฏิบัติการบนพื้นที่ตามที่ทางมหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้ รวมทั้งอุปกรณ์ Bioreactor (Commercial Scale) : ความจุ 1,000L จำนวน 6 เครื่อง และอุปกรณ์อื่น ๆ ประจำห้องปฏิบัติการที่จำเป็นในโครงการและสำนักงาน พร้อมทุนการศึกษาดังที่ท่านอธิการบดีได้กล่าวไป อันเป็นการต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
    

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์  พราหมณพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยพายัพ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการครั้งนี้ ได้กล่าวเสริมอีกว่า โครงการวิจัยนี้ และการเพาะเลี้ยงแคลลัส เซลล์ (Callus Cells) เพื่อใช้ในทางการแพทย์ อาหารเสริม เครื่องสำอางและเครื่องดื่มนี้ หากเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คือภายใน 7 ปี เมื่อสำเร็จแล้วคาดว่าจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ และมีคุณภาพออกสู่ตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศเลยทีเดียว
    

ในส่วนของ ดร.ธนะชัย  พันธ์เกษมสุข  หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ตามไทยแลนด์ 4.0 เราต้องการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพืชกัญชา กัญชง ตอนนี้อยู่ในนโยบายของพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่มาปลูกจริง ๆ แล้วจะพบปัญหา หนึ่ง เรื่องของสายพันธุ์ เรายังไม่รู้ว่ายังมีสายพันธุ์อะไรบ้างที่เหมาะสมกับภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้นเวลานำมาปลูกแล้ว ถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อยก็จะพบกับปัญหาเรื่องโรคแมลง ก็เลี่ยงไปปลูกในระบบปิด สอง เรื่องของสารพิษตกค้าง พอมีโรคแมลงเข้ามาแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่ก็จะใช้ยาปราบศัตรูพืช ก็จะมีปัญหาเรื่องสารตกค้าง
    

นอกจากนั้นพื้นที่ในประเทศไทยก็ไม่เหมาะสม เนื่องจากว่ามีปริมาณโลหะหนักอยู่ เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือ บนดอยบางแห่ง มีสารหนูปนอยู่ในดิน ทำให้คุณภาพของผลผลิตที่ได้ไม่สามารถนำเอามาเป็นยารักษาโรคได้ ไม่เข้ามาตรฐาน ถ้ากลุ่มเกษตรกรต้องการจะทำจริง ๆ ปัญหาเยอะ ก็จะต้องสร้างโรงเรือนปลูกแบบระบบปิด ซึ่งต้นทุนสูงมาก พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ เพาะเลี้ยงเซลล์จากต้นกัญชาโดยเทคนิคไบโอรีแอคเตอร์ 
    

ไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) เป็นอุปกรณ์หรือระบบที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้านชีวภาพ จึงสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของพืช ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและปราศจากสารปนเปื้อนต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ดีที่สุด ซึ่งการใช้เทคนิคการผลิตและการใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม  และพืชสมุนไพร โดยเทคนิคไบโอรีแอคเตอร์ นี้นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 
    

หากโครงการสำเร็จด้วยดีจะช่วยในการเพาะเลี้ยงเซลล์ของกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพรอื่น ๆ ให้สามารถนำไปต่อยอดทั้งด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดีและสร้างมูลค่าให้เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของประเทศอย่างแท้จริงต่อไป