ผวาอหิวาต์หมู พัง1.5แสนล้าน ครัวโลกไทยสะเทือน อาหารสัตว์วูบ 1 ล้านตัน

14 ม.ค. 2565 | 07:16 น.

อหิวาต์หมูเขย่าไทยครัวโลกสะเทือน กรมปศุสัตว์รายงานครม.คุมไม่อยู่เสียหาย 1.5 แสนล้าน กระทบโรงงานอาหารสัตว์คาดปีนี้ความต้องการวูบกว่า 1 ล้านตัน กลุ่มอาหาร สภาอุตฯจี้ทั้งภาครัฐ-เอกชนเร่งกอบกู้ภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า ไก่เฮได้อานิสงส์หมูแพง

 

กรมปศุสัตว์รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ม.ค.2565 เรื่องขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าจำนวน 574 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 15 ต.ค. 2564

 

  • ห่วงโซ่เสียหาย 1.5 แสนล้าน

นอกจากนี้ได้รายงานว่าจากการตรวจพบเชื้อ ASF ล่าสุดในไทย ร่วมกับโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และยังคงอยู่ ทำให้หมูป่วยตายจำนวนมาก เกษตรกรต้องสูญเสียอาชีพ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

 

สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

 

นอกจากนี้ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และใช้เวลานานในการฟื้นฟู จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และความมั่นคงทางอาหารของประเทศด้วย และยังทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 บาทต่อปี

 

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)ครั้งนี้พ่วงกับโรค PRRS ที่ยังมีอยู่ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย

 

  • อาหารหมูวูบ 1 ล้านตัน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยว่า จากผลกระทบโรค ASF และโรค PRRS ในสุกร คาดจะทำให้ผลผลิตหมูเสียหายไป 4-5 ล้านตัว และจะมีผลทำให้การใช้อาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงหมูในปี 2565 จะลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 1 ล้านตัน จากปี 2564 การผลิตอาหารสัตว์โดยรวมของไทยอยู่ที่ 19.07 ล้านตัน ในจำนวนนี้ใช้เป็นอาหารสำหรับหมูขุน และหมูพันธุ์ 5.81 ล้านตัน แต่ปีนี้คาดจะลดลงเหลือ 4.80 ล้านตัน

 

พรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล

 

ทั้งนี้ในการฟื้นฟูการเลี้ยงหมูของเกษตรกรในปีนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และราคาอาหารสัตว์ที่ยังสูง เนื่องจากราคาข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลายข้าว มันสำปะหลังที่ใช้เป็นวัตถุดิบยังมีราคาสูง โดยในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลัก ราคา ณ ปัจจุบันสูงถึง 12-14 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากปี 2564 เฉลี่ยที่ 10.01 บาทต่อ กก. มีปัจจัยจากข้าวโพดที่โรงงานอาหารสัตว์ซื้อจากในประเทศมีราคาสูงจากรัฐบาลให้ช่วยซื้อราคาไม่ต่ำกว่า 8.50 บาทต่อ กก. (ตามนโยบายประกันรายได้)

 

ส่วนราคากากถั่วเหลืองที่ส่วนใหญ่นำเข้า ราคาปี 2564 เฉลี่ยที่ 16.20 บาทต่อ กก. เวลานี้ขึ้นไปที่ 20 บาทต่อ กก. จากปี 2563 ราคาเฉลี่ยที่ 12.66 บาทต่อ กก. โดยในส่วนของปัจจัยจากต่างประเทศที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ผลจาก 1.จีนออกมาซื้อธัญพืชในตลาดโลกมากขึ้น ฉุดราคาขึ้นไป 2.บราซิลผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลกเกิดภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกมาน้อย 3.ค่าระวางเรือสูง 4.เศรษฐกิจโลกฟื้นฉุดความต้องการใช้เพิ่ม คาดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะยังอยู่ในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับจากนี้

 

 

ผวาอหิวาต์หมู พัง1.5แสนล้าน ครัวโลกไทยสะเทือน  อาหารสัตว์วูบ 1 ล้านตัน

 

 

  • คู่ค้าตรวจเข้มถึงระดับ DNA

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่ไทยตรวจพบเชื้อ ASF ในหมู มีผลทำให้ประเทศคู่ค้าขาดความเชื่อมั่น และกระทบภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์สุกรส่งออกของไทย และอาจลดการนำเข้าลง จากปี 2562 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์สุกรกว่า 22,000 ล้านบาท (สุกรมีชีวิต 16,000 ล้านบาท และเนื้อสุกรแปรรูป 6,000 ล้านบาท) และลดลงมากกว่า 40% ในช่วงปี 2563-2564 จากสินค้าหมูของไทยมีระดับราคาสูงกว่าคู่แข่งขันจากต้นทุนสูง และจากโรคโควิดทำให้การบริโภคในต่างประเทศลดลง ในปีนี้หากไทยยังไม่สามารถส่งออกสุกรมีชีวิตได้ (ส่วนใหญ่ไปกัมพูชา) ตัวเลขการส่งออกหมูอาจลดลงไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

“เรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกาที่เกิดขึ้นมาตรการภาครัฐเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์การส่งออก ในส่วนของหมูมีชีวิตก็มีมาตรการอยู่แล้วคือ เมื่อตรวจพบก็มีการทำลาย และจ่ายชดเชยให้เกษตรกร เพื่อตัดตอนควบคุมโรค และคุมเข้มการเคลื่อนย้าย ส่วนภาคเอกชนที่เป็นโรงงานแปรรูปต้องเพิ่มเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับทั้งวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ในโรงงานว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือไม่ และเมื่อแปรรูปบรรจุแพ็กเก็จจิ้งแล้ว ก็ให้มีการตรวจสอบอีกรอบ เพราะประเทศปลายทางเมื่อเขาเกิดความไม่มั่นใจ ก็ต้องตรวจสอบลงลึกถึงระดับ DNA แน่นอน”

 

ขณะเดียวกันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนของผู้ผลิตสินค้าต้องสื่อสารโดยเร็วที่สุดไปยังประเทศผู้นำเข้าปลายทางว่าเราพบเชื้อในระดับไหน มีการบริหารจัดการอย่างไ รเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า รวมถึงผู้บริโภคปลายทาง ขณะผู้บริโภคในประเทศขอให้มั่นใจว่าโรค ASF ไม่ติดจากสัตว์สู่คน และหากหมูปรุงสุกที่ความร้อนเกิน 70 องศาเซลเซียส มั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่นอน

 

  • ลุ้นอันดับโลกไทยดีขึ้นหรือแย่ลง

“ช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปต่างประเทศ 1.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 10% คาดทั้งปี 2564 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 8% (ปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าอาหาร 1.09 ล้านล้านบาท) โดยในส่วนของสินค้าหมูแปรรูปมีสัดส่วนต่อการส่งออกไม่มากนัก ทั้งนี้จากปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก ปี 2563 หล่นมาอยู่อันดับ 13 ส่วนปี 2564 เรากำลังลุ้นว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะปีที่ผ่านมาหลายประเทศผู้ส่งออกอาหารก็มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนปี 2565 เบื้องต้นคาดการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะขยายตัวได้ที่ 3-5% ปัจจัยส่วนหนึ่งจากจะได้ลูกค้าในกลุ่มโฮเรก้า (Horeca) หรือลูกค้ากลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารในต่างประเทศที่จะนำเข้าสินค้าอาหารสดแช่แข็งแพ็กใหญ่ไปจัดเลี้ยงมากขึ้น จากช่วงโควิดสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นอาหารแปรรูปแพ็กเล็ก เพราะกลุ่มโฮเรก้าปิดตัวจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่เวลานี้เปิดประเทศกันหมดแล้ว”

 

  • ไก่ได้อานิสงส์คนกินแทนหมูเพิ่ม

 ขณะที่ นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยว่า จากโรค PRRS และ ASF ที่เกิดขึ้นในไทย ทำให้หมูล้มตายหายจากตลาดไปเป็นจำนวนมาก และเป็นสาเหตุสำคัญของราคาหมูแพง ซึ่งในช่วงที่รัฐบาลและผู้ประกอบการกำลังเร่งช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ ในส่วนของสินค้าไก่คาดจะได้อานิสงส์ตลาดในประเทศ จากผู้บริโภคจะหันมาบริโภคไก่แทนหมูมากขึ้นจากราคาถูกกว่ามาก

 

ส่วนตลาดส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2564 คาดจะส่งออกได้ประมาณ 9.1 แสนตัน มูลค่า 1.01 แสนล้านบาท และปี 2565 เบื้องต้นคาดทั้งด้านปริมาณและมูลค่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1%

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3749 วันที่ 16-19 มกราคม 2565