โอมิครอนฉุดมู้ดจับจ่าย ดันดัชนีค้าปลีก ธ.ค. 64 แค่กระเตื้อง

10 ม.ค. 2565 | 09:06 น.

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ การจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปลายปีคึกคักแต่ไม่เป็นไปตามคาด เหตุสินค้าปรับขึ้นราคาและความกังวลต่อ โอมิครอน ส่งผลให้ดัชนีค้าปลีก ธ.ค. 64ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ผลการสำรวจรอบนี้ของเรา  ต้องยอมรับว่า ไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากการแพร่ของโอมิครอนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และเกรงว่าภาครัฐจะกลับมาประกาศมาตรการการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG) แต่ก็เกิดจากความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีก ธ.ค. 64 แค่กระเตื้อง

และยอดซื้อต่อบิล Spending per Bill หรือ Per Basket Size เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากกำลังซื้อที่แท้จริง สะท้อนว่ายังต้องการแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมเรื่องการยกเลิกกิจกรรมข้ามปีของบางพื้นที่ ที่ส่งผลให้การจับจ่ายปลายปีต้องชะงัก”

 

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือนธันวาคมอยู่ที่ 68.4 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 6 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนพฤศจิกายนที่ 62.1 สะท้อนถึงมู้ดของการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปลายปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลง 4 จุดจากระดับ 69.7        ในเดือนพฤศจิกายน มาที่ 65.1 เดือนธันวาคม สะท้อนถึงความความกังวลต่อการแพร่ระบาดโอมิครอนที่กระจายไปกว่า 30 จังหวัด (สำรวจระหว่างวันที่ 17-24 ธันวาคม 2564)

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากมาตรการผ่อนปรนความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดที่ชัดเจนขึ้น และการที่ประชาชนเริ่มท่องเที่ยวในประเทศตามภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น

และดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม พบว่า เพิ่มขึ้นทุกประเภทร้านค้า ยกเว้นร้านค้าประเภทห้างสรรพสินค้า จากบรรยากาศการจับจ่ายช้อปปิ้ง ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมาย เนื่องจากผู้บริโภครอความหวังจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ควรเกิดในปลายปี 2564 แต่เลื่อนเป็นต้นปี 2565 แทน

 

ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ “การประเมินกำลังซื้อและแนวโน้มการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนจากมุมมองผู้ประกอบการ” ในเดือนธันวาคม ที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-24 ธันวาคม 2564 ดังนี้

  1. ยอดขายเพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา มาจาก

อันดับ 1 มาตรการการกระตุ้นการจับจ่ายภาครัฐ

อันดับ 2 การจัดโปรโมชั่นของร้านค้า

อันดับ 3 การขายผ่านออนไลน์

  1. ความกังวลต่อการแพร่ระบาดโอมิครอน

อันดับ 1 กังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว

อันดับ 2 ลูกค้างดการทำกิจกรรมนอกบ้าน

อันดับ 3 กังวลต่อมาตรการที่อาจต้องล็อคดาวน์

  1. แผนการรองรับหากมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน

63% ขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น

40% ลดค่าใช้จ่าย ลดการจ้างงาน

30% ดำเนินธุรกิจตามปกติ เว้นแต่ภาครัฐสั่งให้ปิด

  1. ความช่วยเหลือจากภาครัฐ

58% เพิ่มการลดหย่อนภาษีและลดภาระค่าใช้จ่าย

55% เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและต่อเนื่อง

43% ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงาน

 

นอกจากนี้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังมี 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐดังนี้

  1. ยกระดับความพร้อมของระบบสาธารณสุข อาทิ เร่งการกระจายการฉีดวัคซีน เสริมชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพและราคาเข้าถึงได้ เตรียมยาที่ใช้รักษา และสำรองเตียงผู้ป่วยหนัก
  2. มีมาตรการเชิงรุกสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดให้มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดในแต่ละพื้นที่ รัฐควรมีการปิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์เท่านั้น
  3. ช่วยภาคเอกชนและประชาชนลดค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดเงินสมทบประกันสังคม ภาษีป้าย รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่มีการค้ำประกัน และพิจารณา   ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิดทางตรงและทางอ้อม
  4. ผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง   อาทิ ช้อปดีมีคืน ควรทำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ครั้งต่อปี เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบรวมกันกว่าแสนล้านบาทตลอดปี

 

“จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องของภาครัฐถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ SMEs และภาคธุรกิจไทยได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการจ้างงาน และสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบค้าปลีกและบริการได้อย่างต่อเนื่อง 

การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วนจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยไปต่อให้ได้ เราไม่สามารถที่จะกลับไปอยู่ในภาวะวิกฤตเหมือนในปี 2564 ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก เพราะฉะนั้นการลดการแพร่ระบาดของโอมิครอนให้กระจายอยู่เพียงในวงจำกัด และกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังขยับตัวดีขึ้นให้น้อยที่สุด จึงเป็นทางออกเดียวของเราทุกคน”