“บิ๊กโจ๊ก” ไล่บี้ประมงแจ้งเท็จ ทวงเงินกว่า 10 ล้านบาท คืนคลัง

07 ม.ค. 2565 | 10:12 น.

ศาลฎีกาตัดสิน ประมงแจ้งเสียหาย "สึนามิ" เท็จ “บิ๊กโจ๊ก” ไล่บี้ ทวงเงินกว่า 10 ล้านบาท คืนคลัง ส่วนเรือประมงแจ้งปิดสัญญาณ VMS 620 ลำ เชือดคิวต่อไป เชื่อ จนท.รัฐเอี่ยว ปล่อยปละเลย รู้เห็นเป็นใจ ไม่บังคับคดีทำให้รัฐเสียหาย โทษวินัยร้ายแรง

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล

 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เปิดเผยในประชุมเพื่อชี้แจงกฎหมายเกี่ยวกับการประมง และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

 

เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการด้านการประมงฯ และเจ้าหน้าที่สืบสวน ศพดส.ตร. ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเป็นมาของปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย

 

ล่าสุด มีคำพิพากษาคดีกรมประมงเรียกเงินช่วยเหลือชาวประมงผู้ประสบภัยสึนามิ โดยแบ่งเป็น  คำพิพากษาฎีกาที่ 27812/2562  ระหว่าง กรมประมง โจทก์  นายทวี แพใหญ่ จำเลย และ  คำพิพากษาฎีกาที่ 816/2562 ระหว่าง กรมประมง โจทก์  นายบุญชู แพใหญ่ จำเลย

 

สรุปสาระสำคัญ กรมประมงให้เงินช่วยเหลือกรณีเรือประมงได้รับความเสียหายจากเหตุสึนามิเมื่อปี 2547 กรณีเรือซ่อมได้ จะช่วยเหลือค่ากู้เรือไม่เกินลำละ 25, บาท และค่าซ่อมแซมไม่เกินลำละ 70,000 บาท (รวมไม่เกินลำละ 95,000 บาท)  กรณีเรือสูญหายหรือเสียหายซ่อมไม่ได้ จะช่วยเหลือลำละไม่เกิน 200,000 บาท

 

ต่อมามีระเบียบกรมประมงให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 10 % ของความเสียหายทั้งหมดหักเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามข้อ 1 นั้น  กรณี นายบุญชู แพใหญ่ กรมประมงตรวจพบว่าเรือ 11 ลำที่นายบุญชูฯ แจ้งว่าเรือเสียหายซ่อมไม่ได้ และรับเงินช่วยเหลือลำละ 200,000 บาท ไปแล้วนั้น ปรากฎว่าสามารถซ่อมแซมให้ใช้การได้

 

นายบุญชู แพใหญ่จึงมีสิทธิรับเงินช่วยเหลือเพียงลำละไม่เกิน 95,000  บาท นายบุญชูฯ จึงรับเงินไปโดยไม่ชอบลำละ 105,000  บาท รวมเป็นเงิน 1,155,000  บาท ต่อมา กรมประมงตรวจพบภายหลังว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือเรือ 2 ลำของนายบุญชู จ่ายสูงกว่าราคาเรือที่แท้จริง รวม 1,678,034 บาท รวมเป็นเงินที่นายบุญชูฯ ไม่มีสิทธิได้รับ  2,833,034 บาท  

อบรม ปราบไอยูยู

ส่วน กรณี นายทวี แพใหญ่  กรมประมงตรวจพบว่าเรือ 27  ลำที่นายทวีฯ แจ้งว่าเรือเสียหายซ่อมไม่ได้ และรับเงินช่วยเหลือลำละ 2 แสนบาท ไปแล้วนั้น ปรากฎว่าสามารถซ่อมแซมให้ใช้การได้ นายทวีฯ จึงมีสิทธิรับเงินช่วยเหลือเพียงลำละไม่เกิน 95,000 บาท  นายทวีฯ จึงรับเงินไปโดยไม่ชอบลำละ  105,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,835,000  บาท  กรมประมงตรวจพบภายหลังว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือเรือ 1  ลำของนายทวี จ่ายสูงกว่าราคาเรือที่แท้จริง 1,004,176 บาท  รวมเป็นเงินที่นายทวีฯ ไม่มีสิทธิได้รับ  3,839,176 บาท  

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์  กล่าวว่า ศาลฎีกาพิพากษาให้นายบุญชู และนายทวี ชำระเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ คืนให้กรมประมง  ดังนี้

 

  • นายบุญชูฯ ต้องคืนเงิน 2,833,034 บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5  ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (15 ม.ค. 2558) จนกว่าจะชำระเสร็จ คิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 15 ม.ค. 2565 เป็นเงิน  1,508,000.39 บาท  รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 4,341,034.39 บาท

 

  •  นายทวีฯ ต้องคืนเงิน 3,839.176 บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (15 ม.ค. 2558) จนกว่าจะชำระเสร็จ คิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 15 ม.ค. 2565 เป็นเงิน 2,044,361.22 บาท  รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 5,883,537.22 บาท  รวมทั้งสองคนต้องชำระ 10,224,571.61 บาท

 

 ปัญหาคำพิพากษาศาลฎีกาออกตั้งแต่ปี  2562  จนบัดนี้ เข้าปีที่ 3 ยังบังคับคดีไม่ได้ โดย 1. จำเลยทั้งสองมีพฤติกรรมหน่วงเหนี่ยวที่จะไม่จ่ายเช่น ทำหนังสือขอผ่อนเดือนละ 10,000 บาท ถ้ากรมประมงยอมรับ  นายทวีฯ จะใช้เวลาชำระถึง 500 เดือน ส่วน นายบุญชูฯ จะใช้เวลาชำระถึง 400  เดือน ทั้งนี้ กรมประมงทำข้อหารือไปกรมบัญชีกลาง ครั้งสุดท้ายเมื่อ 16 พ.ย. 2564 ถึงวันนี้เกิน 45 วัน ยังไม่ได้รับคำตอบ ทั้งที่เป็นความเสียหายของรัฐ

เรือประมงที่แจ้งปิดสัญญาณ VMS

 

สำหรับข้อพิจารณาเนื่องจากเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาและเรียกใช้เงินซึ่งเป็นความเสียหายของภาครัฐ ที่ผ่านมาใช้ระยะเวลายาวนานจนผิดสังเกต จึงเห็นควรสั่งการให้ชุดปฏิบัติการที่ 1 โดย พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผบก.อธ. หัวหน้าชุด ตรวจสอบการดำเนินงานและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

1. การดำเนินงานของกรมประมงและกรมบัญชีกลางที่ใช้ระยะเวลาการบังคับคดียาวนานจนผิดสังเกต

 

2.การดำเนินงานของกรมประมงและกรมเจ้าท่า ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบเกี่ยวกับจำนวนเรือประมงของจำเลยทั้งสองคดี ตามที่ระบุจำนวนเรือไว้ ในคำพิพากษาแต่ละคดี ว่า ณ ปัจจุบันนี้ เรือประมงตามที่ระบุจำนวนไว้ในคำพิพากษานั้น

 

- มีสถานภาพเรือ เป็นอย่างไร

- ยังมีรายชื่อเรือแต่ละลำอยู่ในสารบบเรือไทยตามฐานข้อมูลของกรมเจ้าท่า หรือไม่ อย่างไร

 

ดังนั้นหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์ หรือละเว้น ก็ให้เจ้าหน้าทีพิจารณาดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ และรายงานผลการตรวจสอบให้ประธานคณะทำงานฯ ทราบโดยเร็ว

สำหรับเรื่องที่ 2 ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน เรือประมงปิดสัญญาณ VMS  ตามกฎหมายกำหนดให้เรือประมงขนาด 30  ตันกรอสขึ้นไป ต้องเปิดสัญญาณ VMS ตลอดเวลา แต่มีข้อยกเว้นให้สามารถแจ้งปิดสัญญาณได้ จากการรายงานข้อมูลของคณะติดตามสถานการณ์ ซึ่งผมเป็นประธานเอง พบว่ามีเรือประมงแจ้งปิดสัญญาณ VMS จำนวนหลายร้อยลำ รวม 620 ลำ ดังนี้

 

 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากการข่าวที่ผมได้รับ พบว่ามีเรือที่แจ้งปิด VMS แต่ลักลอบออกไปทำการประมงจำนวนหนึ่งจึงให้กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์ PIPO กรมเจ้าท่า ประสานงานกับ ตำรวจภูธรจังหวัด และชุดปฏิบัติการที่ 2 ออกตรวจสอบว่า เรือที่แจ้งปิด VMS เหล่านี้ ยังอยู่ในจุดจอดตามที่แจ้งกับเจ้าหน้าที่หรือไม่ และเครื่อง VMS อยู่ที่ไหน โดยให้ถ่ายภาพและจัดทำรายงานโดยละเอียด ส่งผมภายในวันที่ 15 ม.ค. 2565 หากไม่พบให้ดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยด้วย