ค่าไฟขึ้นเดือนมกราคมเท่าไหร่ ต่อไปปรับแบบไหน เพราะอะไร เช็กที่นี่

28 ธ.ค. 2564 | 09:05 น.

ค่าไฟขึ้นเดือนมกราคมเท่าไหร่ ต่อไปปรับแบบไหน เพราะอะไร หลัง กกพ. มีมติให้ปรับค่าเอฟที สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2565

ค่าไฟฟ้าจะเริ่มต้นปรับขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า กกพ. มีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปัจจุบัน
ทั้งนี้  กกพ. ได้พิจารณาแนวทางในการลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปีโดยทยอยปรับเพิ่มค่าเอฟทีแบบขั้นบันได ซึ่งในงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2565 จะเพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ จากปัจจุบัน -15.32 สตางค์ในงวดก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยปรับปรุงตามค่าจริงในรอบต่อๆ ไป

สำหรับเหตุผลที่ปรับค่าไฟขึ้นครั้งนี้ กกพ. อ้างเหตุผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง การนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศในส่วนของพลังน้ำลดลงตามฤดูกาลและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์ลดลงตามแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนราคาถูกลดลง 
นอกจากนั้นราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากตามภาวะราคาน้ำมันขาขึ้นในตลาดโลก และปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงเนื่องจากเป็นช่วงปลายสัมปทาน

ส่วนปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 ประกอบด้วย
1.ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 เท่ากับประมาณ 65,325 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,510 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.26%

2.สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.27% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 13.92% และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.68% ลิกไนต์ของ กฟผ. 7.55% และอื่นๆ อีก 6.92%

คมกฤช ตันตระวาณิชย์
3.ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ ดังที่แสดงในตาราง
4.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 – 30 กันยายน 2564) เท่ากับ 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นายคมกฤช กล่าวต่อไปอีกว่า จากการประชุม กกพ. ล่าสุด กกพ. ห่วงใยสถานการณ์ราคาพลังงานที่แพงขึ้นอย่างมาก และเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้พลังงานเป็นวงกว้าง และได้พิจารณานำเงินบริหารจัดการค่า Ft และเงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาลดผลกระทบของการปรับค่าเอฟทีครั้งนี้กว่า 5,129 ล้านบาท
และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชีเงินที่จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณก๊าซตามสัญญาไปก่อน (Take or Pay) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา จำนวนเงิน 13,511 ล้านบาท รวมเป็นเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่า Ft ทั้งหมด 18,640 ล้านบาท 
ตลอดจนได้พิจารณาค่าแนวโน้มปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 32.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันตลาดโลกคาดการณ์เฉลี่ยลดลงมาเป็นประมาณ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และให้มีการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันทดแทน Spot LNG ซึ่งมีราคาสูงเพื่อลดผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าในภาพรวมด้วยแล้ว ยังคงทำให้ค่าเอฟทีต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.18 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 22.50 สตางค์ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะสั้นเป็นอย่างมาก