บอร์ดรฟท.เคาะ เซ็น 5สัญญา 2รถไฟ ทางคู่ฉาว"เหนือ-อีสาน"1.28แสนล้าน ม.ค.ปี65

18 ธ.ค. 2564 | 08:54 น.

บอร์ดรฟท. เคาะเซ็น5สัญญา5ยักษ์รับเหมา 2รถไฟทางคู่ฉาว สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ -สายอีสาน บ้านไผ่-นครพนม 1.28แสนล้าน ได้ไปต่อ หลัง นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ ปล่อยผ่าน ไม่เข้าข่ายฮั้วประมูลล็อกสเปก สร้างความกังขาทั่วบ้านทั่วเมือง

 

การประมูล 2โครงการรถไฟทางคู่ใหม่สายเหนือ –อีสาน มูลค่า1.28แสนล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เมื่อช่วงกลางปี2564ที่ผ่านมา หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตน่าจะส่อไปในทางล็อกสเปก ฮั้วประมูลเนื่องจาก มีเพียงผู้รับเหมารายใหญ่ เพียง5รายผ่าน เกณฑ์ทีโออาร์และในจำนวนนี้แบ่งงานครบทุกรายใน5สัญญา  

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังเสนอราคาห่างจากราคากลาง เพียง0.08% หรือประมาณหลักสิบล้านบาท  นอกจากไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันกีดกันผู้รับเหมารายกลางแล้วยังทำให้รัฐเสียงบประมาณค่อนข้างสูง ชนวนดังกล่าว ทำให้ มีการร้องเรียนไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง7ราย แต่ในที่สุดแล้ว แหล่งข่าวในนำเนียบรัฐบาล ได้ออกมาระบุว่า ผลการพิจารณาส่อ แววได้ไปต่อ เพราะคณะกรรมการอ้างว่ายังไม่พบปมพิรุธใดๆ

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการรับเหมาระบุว่า ไม่เกิดการคาดเดาที่ว่าทั้ง2โครงการต้องผ่านเนื่องจากจะล้มโครงการคงทำให้ล่าช้า นั่นหมายถึงการหลับหูหลับตาให้ปล่อยผ่านทั้งที่มีผู้คัดค้านทั่วบ้านทั่วเมือง  

สะท้อนจาก ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ในฐานะประธานบอร์ด รฟท. เป็นประธานเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติสั่งจ้างผู้ชนะการประกวดราคา(ประมูล)

โครงการรถไฟทางคู่ สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท 3 สัญญาและโครงการรถไฟทางคู่สาย อีสาน บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.54 หมื่นล้านบาท 2 สัญญาทั้งนี้คาดว่าจะลงนามกับเอกชนทั้ง 2 โครงการได้ในเดือน ม.ค.65 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน หลังจากรอคอยโครงการนี้มานาน

 

รายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่า ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบฯ ประชุมทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยเชิญผู้ร้องเรียน และผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง จนได้ข้อสรุปว่า กระบวนการกำหนดราคากลาง และการเปิดเผยราคากลาง ทั้ง 2 โครงการ เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าดำเนินการใดๆ ที่กีดกันไม่ให้ผู้เสนอราคารายใดมีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างไม่เป็นธรรม

หากต้องประมูลใหม่ตามที่ผู้ร้องเรียนได้เสนอ รฟท. ต้องปรับราคากลางสูงขึ้นตามราคาวัสดุเหล็กก่อสร้าง ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆซึ่งอาจทำให้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้นสำหรับทางรถไฟสายเหนือประมาณ 4,200 ล้านบาท และสายอีสานประมาณ 2,900 ล้านบาท รวม 7,100ล้านบาท

ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้นำเสนอรายงานผลการตรวจสอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พ.ย.64 และล่าสุดได้ลงนามสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปดำเนินการ

พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะต่างๆ ของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย อาทิ การทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ทันทีหากเกิดความเข้าใจผิดและควรกำหนด พร้อมเปิดเผยมาตรการ และวิธีการป้องกันการสมยอมในการเสนอราคาต่อสาธารณะ และควรแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวกับการเสนอราคาในรูปแบบของกิจการร่วมค้าให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการสมยอมกันในการเสนอราคา

สำหรับผลการประมูล สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. กลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ เสนอราคาต่ำสุด 26,568 ล้านบาท จากราคากลาง 26,599 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 2 เสนอราคาต่ำสุด 26,900 ล้านบาท จากราคากลาง 26,913 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง84 กม. กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 3 เสนอราคาต่ำสุด 19,390 ล้านบาท จากราคากลาง 19,406 ล้านบาท

ทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. กิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เสนอราคาต่ำสุด 27,100 ล้านบาท จากราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท

และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. กิจการร่วมค้า ยูนิค เสนอราคาต่ำสุดที่28,310 ล้านบาท จากราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท ทั้งนี้ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปีและเปิดให้บริการปี 71 ส่วนสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดให้บริการปี 69