ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ปี 65 รุ่ง ไก่กลับมาโต อาหารสัตว์เลี้ยงผงาดท็อป3 โลก

17 ธ.ค. 2564 | 11:13 น.

"กรมปศุสัตว์" มั่นใจส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยปี 65 ยังรุ่ง จากปี 64 คาดส่งออกทะลุ 2 แสนล้าน เนื้อไก่คาดกลับมาโตต่อเนื่องตั้งเป้า 9.2 แสนตัน หวังปัญหาขาดแคลนแรงงานคลี่คลาย ลุ้นอาหารสัตว์เลี้ยงไทยขึ้นท็อปทรีโลก เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ตลาดจีน-อาเซียนสดใส

โรค "โควิด-19" ยังระบาดทั่วโลก ล่าสุดโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังลุกลามเป็นที่จับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การบริโภค การเดินทาง การท่องเที่ยว ฯลฯ ให้กลับมาชะลอตัวในรอบใหม่หรือไม่ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยที่ยังไปได้ดีในปี 2564 ทิศทางแนวโน้มปี 2565 จะเป็นอย่างไรนั้น

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยในปี 2564 คาดมูลค่าจะพุ่งถึง 200,000 ล้านบาท (11 เดือนแรกส่งออกแล้ว 1.83 แสนล้านบาท) โดยในส่วนของสินค้าไก่ไทยยังคงครองผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา บราซิล และจีน มูลค่าการส่งออกสินค้าไก่ของไทยปีนี้คาดจะลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2563

 

จากปัญหาขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และผลกระทบจากโรคโควิด-19  โดยคู่ค้าหลักสินค้าไก่ของไทยช่วง 11 เดือนแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สัดส่วน 52.4% รองลงมาคือกลุ่มสหภาพยุโรป 13.4% โดย 11 เดือนส่งออกแล้วปริมาณรวม 815,183 ตัน มูลค่า 92,378.29 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกเนื้อไก่แปรรูป 476,163 ตัน มูลค่า 64,454.31 ล้านบาท และเนื้อไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง 339,020 ตัน มูลค่า 27,923.98 ล้านบาท

 

 

ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ย้อนหลัง 5 ปี

 

แนวโน้มปี 2565 คาดการส่งออกเนื้อไก่ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 อยู่ที่ 920,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 104,000 ล้านบาท ปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ การขาดแคลนแรงงานในโรงงานไก่คาดจะกลับสู่ภาวะปกติ ประเทศคู่ค้าให้ความเชื่อมั่นในระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของไทย มาตรการควบคุมป้องกัน และเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่เข้มงวด ทำให้ไทยไม่มีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 12 ปี

 

และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ จะทำให้การบริโภคมีการเติบโตมากขึ้น โดยการส่งออกเนื้อไก่ไทยไปตลาดจีนและญี่ปุ่นมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งตลาดอื่นๆ ยังมีความต้องการสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง

 

 “การจำกัดโควต้าการนำเข้า ปัญหาค่าระวางเรือที่สูงมาก รวมทั้งการตรวจสอบอย่างเข้มงวดที่ด่านนำเข้าทั้งในสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) ยังเป็นข้อจำกัดของการส่งออกเนื้อไก่ไทย”

ส่วนการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากไทยยังคงสถานะปลอด "โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" (ASF) หนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ปลอดสารเร่งเนื้อแดง และความต้องการบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 มีปริมาณ 19,856 ตัน มูลค่า 3,190.91 ล้านบาท

 

ส่วนเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ ส่งออกได้ปริมาณ 1,502 ตัน มูลค่า188.07 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านและของจีนที่มากขึ้น และภาครัฐมีโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับมาตรฐานและสนับสนุนการส่งออก เช่น โครงการ Sandbox ปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริมการผลิตโคเนื้อในเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษตามแนวทางการผลิตที่กำหนดเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

 

ขณะที่สินค้าที่พุ่งแรงมากในปีนี้คือ กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก (ส่งออกในรูปอาหารบรรจุในภาชนะปิดสนิทสัดส่วน 55.68% อาหารเม็ด 40.84% ขนมขบเคี้ยวและอาหารเสริม 2.57%) รองจากเยอรมนี สหรัฐฯ และฝรั่งเศส โดย 11 เดือนแรก ส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 13% (ปี 2563 ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 6.22 หมื่นล้านบาท)

 

คู่ค้าสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา กลุ่มอาเซียน และกลุ่มสหภาพยุโรป และยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดมูลค่าการส่งออกในปี 2565 จะเติบโตราว 20% ขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลกได้

 

“ภาพรวมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในปี 2565 ยังมีแนวโน้มทิศทางที่สดใส จากคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกจะเริ่มคลี่คลาย อุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ประเทศคู่ค้ามีการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดในการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ รวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี”

 

สำหรับสินค้าปศุสัตว์ที่มีทิศทางแนวโน้มการส่งออกที่ดีในปี 2565 นอกจากสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่พุ่งแรงแล้ว ยังมีสินค้าที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มสินค้านวัตกรรมที่เป็นเทรนด์อาหารใหม่ที่ทั่วโลกยอมรับและสนใจมากขึ้น(Novel food) อย่าง จิ้งหรีด ที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มจากปี 2563 ถึง 2.73% เป็นอาหารทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ต้องการโปรตีน เป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูก เป็นต้น

 

ยกตัวอย่าง จิ้งหรีดมีปริมาณการส่งออกเพิ่มจากปี 63 ถึง 2.73% เป็นอาหารทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ต้องการโปรตีน เป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูก เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่สนใจในการบริโภคแมลง เพื่อทดแทนโปรตีนราคาแพงที่มีอยู่ตามท้องตลาด และยังเหมาะสมกับผู้บริโภคที่ต้องการโปรตีนจำนวนมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

 

ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคจิ้งหรีด เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อีกทั้งมีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกไปประเทศแม็กซิโก ในรูปแบบจิ้งหรีดผง จิ้งหรีดแปรรูป และจิ้งหรีดแช่แข็ง และประเทศอื่นๆ (เบลเยียม ญี่ปุ่น และมาเก๊าในรูปแบบจิ้งหรีดผง)

 

สำหรับการเปิดตลาดขยายการส่งออกไปประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมในกลุ่มสหภาพยุโรป และสาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาด ซึ่งการเปิดตลาดจิ้งหรีดไทยไปเม็กซิโกถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมจิ้งหรีดและแมลงกินได้ของไทยเข้าสู่ตลาดมาตรฐานสูงและยังถือเป็นการเปิดประตูสู่ภูมิภาคละตินอเมริกาและอาจนำไปสู่การขยายตลาดไปในภูมิภาคอเมริกาเหนือต่อไปได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยอาหารด้านสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่า โรงแปรรูป สถานที่จำหน่าย ให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับและมีกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ได้กำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐานระบบ GMP และระบบ HACCP ในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ได้ขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานอาหารคนเพื่อการส่งออกแล้วกว่า 360 แห่ง

 

โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อการส่งออกแล้วกว่า 90 แห่ง และได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการของตลาดนำเข้าหลักทั่วโลกที่จะมีการกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยยกระดับมาตรฐานด้านกระบวนผลิต ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green livestock Production)

 

สอดคล้องตามระเบียบและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและหลักสากล คู่ค้าให้ความเชื่อมั่นในระบบการกำกับ ตรวจสอบและควบคุมดูแลกระบวนการผลิตอาหารของประเทศไทย เพื่อพัฒนาความมั่นคงด้านอาหารของโลก และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,740 วันที่ 16-18 ธันวาคม 2564