svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

"บิ๊กป้อม" ดันไอแบงก์ปล่อยสินเชื่อผ่านมัสยิด1,000แห่งปี 65 ลดเหลื่อมล้ำ

16 ธันวาคม 2564

บิ๊กป้อม ดันไอแบงก์ปล่อยสินเชื่อผ่านมัสยิด1,000แห่งปี 65 เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิม สร้างความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับความเป็นอยู่ เพิ่มคุณภาพชีวิต

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)  และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการชุมชนซื่อสัตย์ เพื่อการพัฒนาสังคมมุสลิม  ภายใต้การดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญในการสร้างโอกาสให้ลูกค้ามุสลิม เข้าถึงระบบสถาบันการเงิน
ทั้งนี้  เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิมโดยการให้สินเชื่อผ่านตัวแทนของคณะกรรมการมัสยิดทั่วประเทศ โดยในปี 2564 ธนาคารได้มีการนำร่องเสนอโครงการให้มัสยิดในภาคกลาง และภาคใต้ ปัจจุบันมีมัสยิดให้การตอบรับเข้าร่วมโครงการดังกล่าว แล้ว 350 แห่ง
โดยปี 2565 มีเป้าหมายจะมีมัสยิดเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ รวม 1,000 แห่ง 

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังได้กำหนดยุทธศาสตร์องค์กร การให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม (หลักซะรีอะฮ์) บนพื้นฐานของคุณธรรมซึ่งเชื่อมโยงสู่แผนดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมเป็นการสร้างโอกาสให้พี่น้องชาวมุสลิมเข้าถึงการแหล่งเงินทุน เพื่อการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี 

ยกระดับความเป็นอยู่ เพิ่มคุณภาพชีวิตพี่น้องมุสลิม
"นับเป็นการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม สร้างความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการดำเนินงานครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้มุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” 
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไอแบงก์ ที่ผ่านมาได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้กับพี่น้องชาวมุสลิมโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ซึ่งไอแบงก์ได้ออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือลูกค้า เพื่อลดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการการให้สินเชื่อเพิ่มเติม ฯลฯ และโครงการชุมชนซื่อสัตย์จะเข้ามาเสริมสร้างให้ลูกค้าของไอแบงก์เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

“ด้วยความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาของชาวไทยมุสลิม ในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิม จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามข้อปฏิบัติตามหลักศาสนา เพื่อให้ดำเนินธุรกิจและสามารถดำเนินชีวิตเพื่อประกอบอาชีพ และการดูแลครอบครัวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง”