ชำแหละศก.ไทยปี 65 ยุคไร้นักท่องเที่ยวจีน จีดีพีโต 4.5% ได้จริงหรือ?

11 ธ.ค. 2564 | 03:48 น.

เศรษฐกิจไทยปี 65 ยุคยังไร้นักท่องเที่ยวหลักจากจีน ความผันผวนของตลาดการเงินโลก อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจยังสูง ส่งออกสินค้าสำคัญยังขาดแคลนชิป จีดีพีไทยจะขยายตัว 3-4.5% ได้จริงหรือ ฟังคำตอบ

 

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.วันที่ 8 ธ.ค. 2564 ได้คงคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไทยปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 0.5% ถึง 1.5% และการส่งออกในปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 13.0% ถึง 15.0%  อันเนื่องมาจากความต้องการของตลาดยังขยายตัวต่อเนื่องโดยมีประเด็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

 

ส่วนในปี 2565ศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ โดยที่ประชุมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปีหน้าน่าจะเติบโตที่ 4-5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกจะมีการขยายตัวต่อจากปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.2% ถึง 2.0% (จากปี 2564 คาดอยู่ในกรอบ 1.0-1.2%) ผลจากแนวโน้มของสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และปีหน้าสิ่งที่ต้องจับตามองอีกเรื่องคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อง Geopolitics ของหลายประเทศ

 

ชำแหละศก.ไทยปี 65 ยุคไร้นักท่องเที่ยวจีน จีดีพีโต 4.5% ได้จริงหรือ?

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในปี 2565 แม้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุข และการเข้า-ออก ประเทศที่มีความเข้มงวด

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการส่งออกไทยในปี 2565 ตามที่ กกร.ได้คาดการณ์ข้างต้นอยู่บนเงื่อนไขไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำเติมของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ประกอบด้วย 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่คลี่คลายลง ประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนที่มีความครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ดังนั้นการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่มีแรงหนุนจากมาตรกรเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายจากภาครัฐน่าจะยังเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้มากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น และการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออก

 

2.ภาคการส่งออกคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ดีขึ้น และมีความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติมากขึ้น นอกจากนี้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และยูโรโซน

 

ชำแหละศก.ไทยปี 65 ยุคไร้นักท่องเที่ยวจีน จีดีพีโต 4.5% ได้จริงหรือ?

 

3.การทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564  ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วจาก 63 ประเทศ สามารถเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว (พื้นที่สีฟ้า) ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางการคลี่คลายที่ชัดเจนขึ้น และมาตรการควบคุมโรคที่เปิดกว้างมากขึ้น

 

ชำแหละศก.ไทยปี 65 ยุคไร้นักท่องเที่ยวจีน จีดีพีโต 4.5% ได้จริงหรือ?

 

4.การใช้จ่ายของภาครัฐ โดยการที่ภาครัฐปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี จะช่วยให้ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ประกอบกับการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี งบภาครัฐวิสาหกิจ (การลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ) และกรอบการใช้จ่ายภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯเพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

 

5.นโยบายการเงินที่ยังมีทิศทางผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 0.5% ในปีหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ว่านโยบายการเงินจะยังคงอยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายจนกว่าเศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ชัดเจนในช่วงปลายปี 2565

 

ขณะที่ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่สำคัญได้แก่ 1.ความเสี่ยงจากกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งจากการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยล่าสุด “โอมิครอน” (Omicron) ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ จัดอยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล และปัจจุบันมีการแพร่ระบาดแล้วในหลายสิบประเทศทั่วโลก และมีแนวโน้มอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาดูว่าจะเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นอีกครั้งจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่หรือไม่

 

2.ปัญหาการชาดแคลนเซมิคคอนดักเตอร์(ชิป)ในตลาดโลกที่ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั่วโลกได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องชะลอกำลังการผลิตลง เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม

 

ชำแหละศก.ไทยปี 65 ยุคไร้นักท่องเที่ยวจีน จีดีพีโต 4.5% ได้จริงหรือ?

 

3.ปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทั้งจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง ราคาค่าขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 40% รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าประกันภัยทางทะเล ค่าประกันสินค้าที่ขนส่งทางทะเล ฯลฯ และระยะเวลาขนส่งสินค้าที่ใช้เวลานานมากขึ้น เนื่องจากประมาณตู้คอนเทนเนอร์เปล่าไม่เพียงพอในการรองรับการขนส่งสินค้า

 

4.อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จากราค่าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เร่งตัวขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยูโรโซนที่เผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก จนทำให้มีแนวโน้มว่าจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ต้องจ่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น และจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น อาจซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้น

 

5.เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากในปัจจุบันจีนกำลังเผชิญทั้งวิกฤติพลังงาน การคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์ และยังมีนโยบายควบคุมโควิดให้เป็น 0 ราย โดยไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน จากนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของทางการจีนที่ยังคงมาตรการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีน คาดว่าจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565  นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาจีนสูง หรือราว 6% ของจีดีพี ดังนั้นความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้

 

6.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอาจมีการดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่ตึงตัวมาก เช่น การลดการทำ QE และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ทันกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สร้างความผันผวนต่อตลาดเงิน อัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน

 

7.การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และกระทบต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไปมากขึ้น

 

“สำหรับข้อเสนอแนะรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2565 ได้แก่ การป้องกันและควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ รวมทั้งต้องมีมาตรการเผ้าระวังที่เคร่งครัดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการเยียวยาโดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ เพื่อฟื้นฟูการจ้างงานให้คนกลับมามีรายได้ การอำนวยความสะดวกสำหรับนักเดินทาง ทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนเข้าออกประเทศไทย"

 

นอกจากนี้ให้เร่งเข้าร่วมการเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ CPTPP ที่ภาคเอกชนได้ส่งผลการศึกษาของภาคเอกดชนให้ทางภาครัฐและภาคประชาสังคมไปแล้ว การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการเร่งรัดให้มีการลงทุนจริงจากผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ไปแล้ว เป็นต้น