เคลียร์ชัด สหภาพรถไฟค้านปิดสถานีหัวลำโพง เอื้อนายทุน

07 ธ.ค. 2564 | 08:47 น.

สหภาพรถไฟฯ ค้านปิดสถานีหัวลำโพง จ่อยื่น 3 ข้อเสนอชงรัฐบาลแก้ปัญหาเดินรถไฟ แก้ปัญหาจราจรติดขัด หวั่นเอื้อนายทุนรายใหญ่สร้างศูนย์การค้าฯ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการหยุดให้บริการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง นั้น ทางสหภาพมองว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงถือเป็นสถานีประวัติศาสตร์และเป็นที่พึ่งของประชาชน หากมีการปิดสถานีหัวลำโพงจะส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ที่ผ่านมาทางสหภาพได้ดำเนินการล่ารายชื่อและพบปะประชาชนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดโดยต้องการให้รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหยุดดำเนินการนโยบายเหล่านี้ ส่วนกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแผนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทบทวนแผนการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เบื้องต้นสร.รฟท.ยืนยันต้องมีขบวนรถไฟจำนวน 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพงเหมือนเดิม ส่วนข้อเสนออื่นๆคงต้องฟังภาคประชาชนอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปและเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

 

 

 นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนการหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงในวันที่ 23 ธ.ค.นั้น ทางสหภาพฯไม่เห็นด้วย เนื่องจากสหภาพฯได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการหยุดให้บริการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง

 

 

 

 

"หากมีการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อและต้องปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพงไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะสถานีหัวลำโพงถือว่ายังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และการให้บริการประชาชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องทบทวนในเรื่องนี้ว่าจะเห็นผลประโยชน์ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือให้ผลประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่ากัน"

"ทุกวันนี้เราต้องพูดความจริงว่ารฟท.เป็นหนี้เพราะมีการให้บริการที่ต่ำกว่าต้นทุน ทำให้มีหนี้สะสม 2.4 แสนล้านบาท เนื่องจากภาครัฐไม่ได้มีการชดเชยรายได้ให้กับรฟท. ขณะเดียวกันที่ดินของรฟท.บริเวณอื่นๆสามารถหาประโยชน์ได้เช่นกัน แต่การยกเลิกสถานีรถไฟหัวลำโพง ทั้งๆที่เป็นสถานีให้บริการด้านระบบรางถือเป็นการผิดกฎหมายอย่างชัดเจน "

 

 

 

 

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมยกประเด็นถึงรฟท.เป็นหนี้ถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ในอนาคตที่ไม่มีความจริง โดยปัจจุบันภาครัฐค้างจ่ายหนี้ให้รฟท. อยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันการพัฒนาที่ดินในพื้นที่รฟท.มีหลายแปลง เช่น สถานีย่านจตุจักร ,สถานีบางซื่อ ฯลฯ ที่สามารถพัฒนาพื้นที่ได้ แต่เหตุใดถึงเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง รวมทั้งบริเวณรอบสถานีรถไฟหัวลำโพงมีหลายธุรกิจที่เช่าบนพื้นที่ของรฟท. เช่น โรงแรมทวินทาวเวอร์ สามารถทำควบคู่กับการให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพงต่อไปได้

 

 

 สำหรับข้อเสนอของสหภาพฯรถไฟต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้ 1. การให้มีบริการขบวนรถไฟรับ – ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ควรมีอยู่ต่อไป โดยให้มีขบวนรถไฟชานเมืองทุกสาย และรถบริการเชิงสังคม(PSO)ทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวน มีต้นทาง – ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ เพื่อเป็นบริการขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ที่รองรับประชาชนจำนวนมากจากทั่วทุกส่วนภูมิภาคเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยความสะดวก ปลอดภัย รวมทั้งใช้ในการเดินขบวนรถพิเศษเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ และของการรฟท.อีกทั้งเป็นพื้นที่อันควรค่ายิ่งแก่การอนุรักษ์ใช้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ส่วนที่สถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นต้นทาง – ปลายทาง ของขบวนรถเชิงพาณิชย์และขบวนอื่นๆที่จะมีต่อไปในอนาคต

 

 

2.การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรางเป็นระบบหลักอย่างสมบูรณ์เต็มระบบ ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วต่างก็ใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งหลักในเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ส่งเสริมให้ลดปริมาณการใช้รถยนต์ เนื่องจากขนส่งคนได้เป็นจำนวนมาก ไม่สร้างมลภาวะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางแก้ควรขยายทางยกระดับข้ามทางรถไฟ หรือขุดอุโมงค์ที่ถนนตัดผ่านเสมอระดับทางที่ยมราช โดยรัฐบาลควรดำเนินการเร่งรัดโครงการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายให้เต็มรูปแบบ ที่ดำเนินการโดยรัฐทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการ เพื่อควบคุมราคาค่าบริการและเป็นรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน

เคลียร์ชัด สหภาพรถไฟค้านปิดสถานีหัวลำโพง เอื้อนายทุน

3.การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของรฟท.ควรดำเนินการจากที่ดินของรฟท.ในพื้นที่ที่มีความพร้อม เช่น พื้นที่ย่านพหลโยธิน บางซื่อ จตุจักร รัชดาภิเษก สถานีแม่น้ำ หรือพื้นที่อื่นๆที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก อรัญประเทศ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ อุดรธานี ขอนแก่นอุบลราชธานี นครราชสีมา และ บุรีรัมย์ เป็นต้น

 

 

 

 ขณะเดียวกันพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นที่ดินที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟที่ใช้สำหรับการเดินรถ การนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 6 ต้องการที่จะหาประโยชน์จากการพัฒนาที่ดิน โดยหากมีความจำเป็นต้องพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีหัวลำโพงด้วย ไม่จำเป็นต้องปิดสถานีหัวลำโพง และหยุดให้บริการเดินรถไฟแต่อย่างใด เพราะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กับการขนส่งสาธารณะทางรถไฟสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้

เคลียร์ชัด สหภาพรถไฟค้านปิดสถานีหัวลำโพง เอื้อนายทุน

 

 

 ทั้งนี้ตามกรณีที่อ้างว่ารฟท.ขาดทุนต้องพูดความจริงให้หมด ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 43 ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่าย(ขาดทุน) รัฐพึ่งจ่ายเงินให้แก่รฟท.เท่าจำนวนที่ขาด โดยรฟท.ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐในการให้บริการเชิงสังคมที่ต่ำกว่าต้นทุน ขาดทุนสะสมกว่า 190,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้ตามเวลา และตามจำนวนที่ขาด จนทำให้รฟท.ต้องไปกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และรับภาระดอกเบี้ยประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท

 

เคลียร์ชัด สหภาพรถไฟค้านปิดสถานีหัวลำโพง เอื้อนายทุน

 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวต่อว่า เราต้านการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง เนื่องจากปัจจุบันผังเมืองสถานีหัวลำโพงเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งไม่สามารถนำไปบริหารเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องการหยุดเดินรถไฟโดยปรับสีผังเมืองเพื่อดำเนินการหารายได้ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยการเปิดประมูล ถึงแม้กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าไม่มีการทุบสถานีรถไฟหัวลำโพงแต่ก็ถือเป็นการเอื้อนายทุน ทำให้สถานีรถไฟหัวลำโพงกลายเป็นประตูทางเข้าเพื่อสร้างศูนย์การค้าในอนาคต