เจาะรหัส 5-8 ส่งออก-จีดีพีไทยปี 65 จะโตได้แค่ไหน?

23 พ.ย. 2564 | 08:07 น.

ม.หอการค้าฯระบุ 5 ปัจจัยบวก 8 ปัจจัยลบ ชี้เป็นชี้ตาย ส่งออก-จีดีพีไทยปี 65 จะโตได้แค่ไหน พร้อมแนะ รัฐ-เอกชนต้องทำอะไรบ้าง ระบุรถไฟลาว-จีนช่วยลดต้นทุนส่งออกสินค้าไทยเจาะตลาดแดนมังกร น้ำมันแพง-ต้นทุนขนส่งพุ่ง-โควิดอาจกลับมาระบาดรอบใหม่ต้องคุมเข้มให้ดี

 

ภาคส่งออกไทย เครื่องยนต์หลักพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่าส่งออก 222,736.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.95 ล้านล้านบาท) ขยายตัว +15.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สถาบันหลักภาคเอกชนทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ต่างฟันธงว่าถึงสิ้นปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ที่ 12-14% (จากปี 2563 มีมูลค่าส่งออก 231,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในรูปเงินบาท 7.18 ล้านล้านบาท) โดยจะมีมูลค่าการส่งออก 259,430- 264,062 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุบสถิติเป็นตัวเลขมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ประเทศมีการส่งออกมา

 

เจาะรหัส 5-8 ส่งออก-จีดีพีไทยปี 65 จะโตได้แค่ไหน?

 

ขณะที่นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาส่งสัญญาณว่าส่งออกไทยปี 2564 มีโอกาสจะขยายตัวได้ถึง 15-16% สูงกว่าเป้าหมายตั้งไว้เมื่อต้นปีจะขยายตัวได้ 4% หรือมากกว่าเป้าหมายถึง 4 เท่า ขณะที่ปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงทิศทางการส่งออกไทยจะเป็นอย่างไรนั้น

 

ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกของไทยคาดจะขยายตัว 12-13% เทียบกับปีที่แล้ว (2563)ที่ขยายตัว -6% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ปี 2564 จะขยายตัวได้ 1% จากปี 2563 ที่ขยายตัว -6.1%

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

ส่วนในปี 2565 คาดส่งออกไทยจะขยายตัวได้ในเบื้องต้นประมาณ 4%  และคาดจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.7% โดยปี 2565 มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ต้องเผชิญของภาคการส่งออกไทย โดยปัจจัยบวก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ 2.นโยบายการเปิดประเทศของประเทศต่าง ๆ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่ม 3.การฉีดวัดซีน ทำให้ภาคการผลิตกลับมาเดินเครื่องการผลิต แม้จะไม่เต็มประสิทธิภาพก็ตามและดีกว่าในระยะที่ผ่านมา 4.อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่า (แต่ต้องเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนประเทศคู่แข่ง) และ 5.รถไฟลาว-จีนทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนลดลง

 

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทำให้เพิ่มต้นทุนการขนส่ง 2.เงินเฟ้อ ลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค 3.โควิดกลับมาระบาดใหม่ (ต้องระวัง) 4. ห่วงโซ่การผลิตของไทยที่ต้องไปเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมโลก จะได้รับผลกระทบ (supply disruption) จากขาดวัตถุดิบเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า 5.ประเทศจีนยังไม่เปิดประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าตามชายแดน สินค้าตรวจเข้ม และนักท่องเที่ยวจีนยังไม่มาเที่ยว 6.ศักยภาพการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยถดถอยลงจากต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ 7.ประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรกับจีน ทำให้เกิดการกีดกันทางค้าในอุตสาหกรรมที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และ 8.การย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม

 

เจาะรหัส 5-8 ส่งออก-จีดีพีไทยปี 65 จะโตได้แค่ไหน?

 

ดร.อัทธ์ ให้ข้อเสนอแนะภาครัฐ และผู้ประกอบการเพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากปัจจัยบวก-ลบส่งออกไทยปี 2565  ประกอบด้วย 1.ในแต่ละตลาดต่างประเทศต้องทำแผนการวิเคราะห์ความเสี่ยงจาก ปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรกคือ โควิดและราคาน้ำมัน 2.ทำแผนการวิเคราะห์ตำแหน่งสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศเทียบก่อนและหลังโควิด เทียบกับสินค้าของประเทศคู่แข่ง แล้วจัดทำแผนการรุกตลาดปี 2565 3.ทำโมเดล “ 2+1” 2 คือ เอกชนไทยและหน่วยงานไทย กับ 1 คือ หน่วยงานเอกชน (หอการค้าต่างประเทศ หรือผู้นำเข้า) เพื่อทำแผนส่งออกร่วมกันในแต่ละประเทศ แล้วประเมินรายไตรมาส

 

ส่วนข้อเสนอแนะภาครัฐเพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งออกไทยปี 2565 ได้แก่ 1.สินค้าเกษตร หันมาให้ความสำคัญกับต้นทุนการผลิต การแปรรูป นวัตกรรม ผลผลิตต่อไร่ 2.สินค้าอุตสาหกรรมของ SMEs ผ่อนคลายกติกาเงินกู้ ทำให้เกิดการซื้อขาย E-commerce ในตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง 3.แผนการใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีนในการขนส่งสินค้า และ 4.การปลอดโควิดจะช่วยทำให้ ผู้บริโภคในต่างประเทศเชื่อมั่นสินค้าไทย