“คมนาคม” เข็นบิ๊กโปรเจคต์ จ.ระนอง บูมเศรษฐกิจท่องเที่ยวแดนใต้

12 พ.ย. 2564 | 06:52 น.

“คมนาคม” เดินหน้าบิ๊กโปรเจคต์ จ.ระนอง หนุนพัฒนาระบบขนส่งทุกมิติ รองรับเศรษฐกิจท่องเที่ยวภาคใต้ เล็งชงครม.สัญจร ดันไทยแลนด์ริเวียร่า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระนอง ว่า สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระนอง ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการพัฒนาโครงการทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) สายชุมพร - ระนอง ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 และสายระนอง - สุขสำราญ จะดำเนินการก่อสร้างตามแผนปีงบประมาณ 2566 - 2570 โดยทั้ง 2 เส้นทางเป็นการขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง

 

 

 ขณะที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานความก้าวหน้า ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 64-65 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ปี 2573 เพื่อลดเวลาและระยะทางในการขนส่ง ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกา สามารถจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น

 

 

 

 นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปัจจุบันมีศักยภาพโครงข่ายทางหลวงชนบท จำนวน 22 สายทาง ระยะทางรวม 310.728 กม. ครอบคลุมทั้ง 4 อำเภอในจังหวัดระนอง โดยในปี 2565 มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 33 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 268 ล้านบาท เบื้องต้นในอนาคตทช.จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าในประเทศผ่านการพัฒนาถนนสู่ท่าเรือระนอง ระยะทางรวม 14.970 กม. และการพัฒนาทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (ไทยแลนด์ริเวียร่า) ในพื้นที่จังหวัดระนอง รวมระยะทาง 77.121 กม. เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จังหวัดกระบี่

“ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเร่งรัดผลักดันการพัฒนาโครงการในพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดระนองต่อไป”  

 

“คมนาคม” เข็นบิ๊กโปรเจคต์ จ.ระนอง  บูมเศรษฐกิจท่องเที่ยวแดนใต้

 

ด้านกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานระนอง ระยะที่ 1 ปี 2566 – 2568  เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้เป็น International Airport สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น โดยจะขยายความยาวทางวิ่ง จากขนาด 45 x 2,000 เมตร เป็นขนาด 45 x 2,400 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาด 230 ที่นั่ง ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากเดิม 6 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 10 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิม 3 ลำ เป็น 10 ลำ ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (Domestic/International) รองรับได้ 2.8 ล้านคน/ปี (1,000 คน/ชั่วโมง) จากเดิม 8 แสนคน/ปี (300 คน/ชั่วโมง) ก่อสร้างลานจอดรถยนต์ รองรับได้ 500 คัน จากเดิม 250 คัน งบประมาณรวม 2,280 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2565 สำหรับศึกษาออกแบบรายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว 

 

“คมนาคม” เข็นบิ๊กโปรเจคต์ จ.ระนอง  บูมเศรษฐกิจท่องเที่ยวแดนใต้

 

ส่วนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง ระยะที่ 2 ปี 2568 – 2571 จะดำเนินการขยายความยาวทางวิ่งจากเดิม 2,400 เมตร เป็น 2,990 เมตร ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ และก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง หัวทางวิ่ง ใช้งบประมาณ 1,250 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำท่าเรือเอนกประสงค์ระนอง โดยได้ออกแบบขุดลอกร่องน้ำให้ได้ระดับความลึก 12 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด เพื่อให้ร่องน้ำเดินเรือมีความลึก ช่วยให้การเดินเรือเข้าออกท่าเรือเอนกประสงค์ระนองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ 2566  

“คมนาคม” เข็นบิ๊กโปรเจคต์ จ.ระนอง  บูมเศรษฐกิจท่องเที่ยวแดนใต้

 

 

ทั้งนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง 2 ระยะ เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เชื่อมโยงการค้าฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และก้าวเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศ BIMSTEC โดยระยะที่ 1 ได้แก่ การปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 1 (ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์) รองรับเรือสินค้าทั่วไปขนาด 500 GT (ton gross) พร้อมกัน 2 ลำ ปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 2 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือตู้สินค้า ขนาด 12,000 DWT ก่อสร้างลานวางตู้สินค้า รองรับตู้ 320,258 TEUsต่อปี โดยจะเปิดให้บริการโครงการระยะที่ 1 ในปี 2569 และระยะที่ 2 โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือ 12,000 DWT ก่อสร้างลานวางตู้สินค้า ส่วนต่อขยาย โดยทั้ง 2 ระยะ รองรับตู้ 499,226 TEUs ต่อปี และสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 2 ได้ในปี 2583