ดัน “อิสาน” ขึ้นแท่นศูนย์กลางเส้นทางท่องเที่ยวสาย “กัญชา”

12 พฤศจิกายน 2564

สธ. หนุน Green Medicine เปลี่ยนประเทศไทยเป็น wellness destination จุดหมายปลายทางสุขภาพ พร้อมดันกัญชา กัญชง กระท่อม เป็นproduct champion ดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ปักหมุดแรกปั้น “อิสาน” เป็นฮับเส้นทางท่องเที่ยวสายกัญชา

ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในงานThe Global Medical Cannabis and Herbs Forum    ครั้งที่ 1ว่า  ปัจุบันเทรนด์ของโลกภายใต้สถานการณ์โควิดกำลังเดินทางไปสู่การลดการใช้ยาปฏิชีวนะหรือลดการใช้เคมีลง นำมาสู่การสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนใน Green Medicine ซึ่งประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีต้นทุนในเรื่องของคลังยาสีเขียว มีความได้เปรียบของสมุนไพรไทยเพราะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับ 8 ของโลกเพราะตั้งอยู่ในเส้นศูนย์สูตรที่มีอากาศร้อนชื้น เป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยสามารถปลูกพืชสมุนไพรได้ดี

 

บางครั้งจะเห็นว่าสมุนไพรที่ถูกปลูกในประเทศอาจจะถูกนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศสร้างมูลค่าเพิ่มจำนวนมาก ซึ่งนี่คือสิ่งที่สธ.กำลังจะทำคือสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนภายใต้การรักษาโรคด้วยพืชเพราะฉะนั้นประเทศไทยควรเดินหน้าและสนับสนุนให้สมุนไพรไทยเติบโตในตลาดโลก

 

ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา “ฟ้าทะลายโจร”กลายเป็น product champion ที่คนทั่วโลกรู้จัก รวมทั้งกระชายขาวที่แม้ว่าอาจยังไม่มีงานวิจัยรองรับ 100% แต่แน่นอนที่สุดมีการใช้ฟ้าทะลายโจรและกระชายขาวรักษาผู้ติดเชื้อในเรือนจำซึ่งสามารถลดการอักเสบของปอดได้ดี

 

ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกกระชายดำยังอยู่ในระดับต้นๆของพืชสมุนไพรที่ช่วยผู้ป่วยสมรรถภาพทางเพศเสื่อมและได้รับความนิยมอย่างสูง  เพื่อให้พืชสมุนไพรไทยถูกใช้เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ภาครัฐได้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริม Green Medical นำร่องด้วยกัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ กัญชงและกระท่อมเป็น product champion 

 

ประเด็นต่อมาคือการสร้างความเติบโตและความยั่งยืนทางด้านการเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานของคนไทยทั่วประเทศ ถ้าเกษตรกรสามารถปลูกพืชสมุนไพรไทยหรือปลูกกัญชา กัญชง ได้จะเป็นการเสริมรายได้ในอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนในแง่ของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอาชีพเดิมของเขาได้ 

 

“สถานการณ์โควิดทำให้คนไทยรู้จักสมุนไพรไทยมากขึ้น แล้วก็เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะฉะนั้นจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเราทำงานเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ในแง่ของเทคโนโลยีหรือในแง่ของการที่จะทำให้พืชสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จัก ซึ่งจะทำให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนที่มีอาชีพเกษตรกรรม”

 

ประการที่ 3 การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย “เมดิคอลเทคโนโลยี” คือกันผนวกนวัตกรรมเกษตรกรรมเข้ากับสมุนไพรไทยเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านทั้งสมุนไพรไทยและกัญชาให้เป็นพืชสมุนไพรของโลก ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าประเทศไทยคือ wellness destination หรือจุดหมายปลายทางของสุขภาพ

 

“เมื่อเราสร้างเป้าหมายได้ก็จะมีความต้องการในทุกผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ ทั้งเรื่องของกัญชาทางการแพทย์หรือทางการผ่อนคลาย เรามีนวดไทยซึ่งได้รับรางวัลมรดกโลกแบบไม่มีรูปประธรรมและมีสมาคมนวดไทยกระจายตัวอยู่ใน 57 ประเทศทั่วโลก นั่นหมายความว่าคนทั่วโลกรู้จักนวดไทยเป็นอย่างดี เรามีอาหารที่ได้รับความยอมรับทั่วโลกเช่นต้มยำกุ้ง คนต่างชาติต้องการเข้ามารับประทานอาหารในประเทศไทยและส่วนผสมของอาหารนั้นมีสมุนไพรไทยอยู่ด้วย 

 

ดังนั้นเราจะต้องสร้างเป้าหมายร่วมกันว่าต่อไปนี้เราจะสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพไปด้วยกัน เราจะสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตโดยทำให้คนที่เป็นสันหลังของประเทศไทยก็คือเกษตรกรมีโอกาสที่จะปลูกสมุนไพรและปลูกพืช product champion ไม่ว่าเป็นกัญชา กัญชง เพื่อทำให้เขามีรายได้เพิ่มมากขึ้นและทำให้ประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

 

ก่อนอื่นเราจะปักหมุดศูนย์กลางสมุนไพรไทยกัญชา กัญชงที่ภาคอิสานซึ่งมีการค้นคว้าวิจัยกัญชา กัญชง เป็นภูมิภาคร่องเส้นทางท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพและเส้นทางของกัญชา กัญชง ซึ่งต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคีเครือข่าย ทุกองคาพยบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนต่างๆเหล่านี้ให้ครบ แล้วก็ทำให้คนทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย หรือคิดถึงประเทศไทยแล้วนึกถึงสมุนไพรไทยให้เราเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญในการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ”