ค่าไฟขึ้นแน่ปี 65 ผู้ใช้เตรียมควักเพิ่ม-กกพ.ชี้ LNG เพิ่มสูงสุดรอบหลายปี

09 พ.ย. 2564 | 09:02 น.

ค่าไฟฟ้าปี 65 ปรับเพิ่มแน่นอน หลังราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทรงตัวระดับสูง กกพ.รับจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่ไม่ได้ขึ้นเยอะจนน่าตกใจ

ราคาค่าไฟฟ้าปี 2565 เริ่มส่อแววที่จะมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น  หลังจากที่ล่าสุดบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ระบุว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในปี 2565 คาดว่าจะยังทรงตัวสูง จากภาวะตึงตัวและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตจากกลุ่มโอเปกพลัสได้ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนักส่งผลให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวสูง 
แต่คาดว่าในช่วงต้นปี 2565 จะเห็นราคาน้ำมันดิบปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดจร (Spot) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ มาจากความจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินเป็นก๊าซฯ ทำให้ในระยะสั้นราคา LNG สูงขึ้น และคาดว่าจะเริ่มลดลงมาอยู่ในระดับปกติในช่วงกลางปี 2565

ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันดิบที่ยังทรงตัวสูงในขณะนี้ จะมีส่วนทำให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติปี 2565 ของบริษัทสูงขึ้น คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และบางโครงการได้ปรับราคาขายก๊าซฯตามสัญญา
อย่างไรก็ดี จากการติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ราคาน้ำมันดิบโลกเบรนท์ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 64 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.74 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (LNG Spot) ที่ผ่านมาเดือนตุลาคม 64 ขยับไปกว่า 18 เหรียญฯต่อล้านบีทียู
ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอาศัยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าประมาณกว่า 60% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด เพราะฉะนั้น เมื่อทั้ง LNG นำเข้ามีราคาขยับสูงและก๊าซในประเทศจากอ่าวไทยมีสูตรราคาที่ขยับขึ้นตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะต้องสูงขึ้น 

-รับค่าไฟขั้นแน่นอน
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กล่าวถึงการเตรียมแผนสำหรับรองรับต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้นในปี 2565 ว่า ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะก๊าซ LNG ตอนนี้มีการปรับราคาขึ้นไปสูงสุดในรอบหลายปี 
ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากสัดส่วนเชื้อเพลิงก๊าซ LNG คิดเป็น 80% ของเจเนอเรชั่นทั้งหมด รองลงมาจะเป็นต้นทุน transmision ประมาณ 20 สตางค์/หน่วย และต้นทุนการกระจายและค้าปลีก (distribution และ detail) รวม 50 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมทั้ง 2 ต้นทุนเข้าด้วยกันก็จะคิดเป็นประมาณ 70 สตางค์/หน่วยทีเดียว
นายคมกฤช ยืนยันว่า ราคา LNG ที่พุ่งขึ้นมากระทบค่าไฟแน่นอน แต่ไม่ได้ขึ้นเป็น 2-3 เท่า ค่าไฟคงต้องปรับขึ้น แต่ไม่ได้ขึ้นเยอะในปริมาณที่น่าตกใจ อาจจะขึ้นประมาณ 5-10 สตางค์/หน่วย ไม่ได้ขึ้นไปถึงขนาด 2-3 บาท/หน่วย เพราะพอร์ชั่นบางส่วนใน LNG spot ไม่ได้เยอะ แต่ยังมี LNG เทอมอย่างอื่นบวกเข้าไปอีก 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ.
หากถามว่าต้องเตรียมเงินสำรองไปชดเชยหรือไม่ ตามหลักการแล้ว ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงมันต้องพาสไปที่ค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้นในรอบหน้าเดือนมกราคม-เมษายน 65 ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) อาจเป็นบวกจากเดิมที่เป็น -15 สตางค์ มาโดยตลอด แต่ถ้าสามารถหาสมดุลหรือหาเงินส่วนอื่นมาช่วยชดเชย ค่า Ft ก็อาจขึ้นไม่มากนัก
ที่ผ่านมาการลดหรือชะลอการขึ้นค่า Ft ที่จะบวกเข้าไปในราคาค่าไฟฟ้านั้น อาจใช้วิธีให้การไฟฟ้าช่วยรับภาระไปก่อนบางส่วน หรือทั้งหมดก็ได้
-ราคา LNG ตลาดโลกพุ่ง
นายคมกฤช ยังระบุอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก เป็นผลมาจากไตรมาส 4 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติปริมาณสูงสุดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูหนาว ซึ่งผู้ใช้ก๊าซก็จะทำการซื้อเก็บสต๊อก แต่ว่าในปีนี้เกิดภาวะวิกฤตพลังงานในจีน ทั้งยังอาจเกิดการปั่นราคา LNG ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ราคา LNG สูงขึ้นไปเป็นประวัติการณ์ 3-4 เท่าจากราคาตามปกติ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการนำเข้าสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า LNG หรือ LNG shipper ชะลอการนำเข้าก๊าซ LNG ในช่วงที่มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับมีการแจ้งเรียกปริมาณก๊าซ take or pay ช้าไป ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 ทำให้ชิปเปอร์นำเข้าเตรียมตัวไม่ทัน
นายคมกฤช บอกอีกว่า ค่า Ft โดยหลักการต้องปรับขึ้นแน่ แต่ไม่ใช่ขึ้นรวดเดียวทั้งหมด ประเทศไทยไม่ได้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเพียงประเภทเดียว ยังมีเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ อีก เช่น น้ำ ซึ่งต้องเอามาเฉลี่ยให้สมดุลกัน และอีกอย่างไทยยังมีก๊าซธรรมชาติในอ่าวก็จะมาช่วยอีกส่วน 
"ถามว่าราคาทั่วโลกขึ้น ก๊าซในอ่าวก็เชื่อมต่อกับน้ำมันก็ต้องตอบว่า ขึ้น แต่เป็นสัญญาระยะยาว (longterm contract) จึงไม่ได้ปรับขึ้นเท่ากับราคา spot ที่ต้องซื้อเป็นช่วง ๆ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมาช่วยสมดุลกันได้ และถ้าหากเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซ LNG คิดเป็นประมาณ 20% ในจำนวนนี้ก็จะมีส่วนที่เป็น LNG spot ไม่เกี่ยว LNG term อยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อเทียบกันแล้ว ราคา LNG spot ขึ้นไป 2-3 เท่า แต่ราคา LNG Term อาจขึ้นแค่ 1.3-1.4 เท่าก็จะมาเฉลี่ยกันได้บ้าง” 
-เล็งแยกบัญชีค่าไฟฟ้า
แหล่งข่าวจาก กกพ. ระบุว่า กกพ.เตรียมแยกบัญชีค่าไฟฟ้าระหว่างค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เห็นส่วนต่างที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้ กกพ.ต้องแสดงราคาค่าไฟฟ้าของทั้งสองประเภทให้ประชาชนได้เห็นอย่างชัดเจน โดยเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่จะมีสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มแสดงบัญชีราคาค่าไฟฟ้าดังกล่าวได้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ช่วงต้นปี 2565 นี้
ปัจจุบัน กกพ.ได้เริ่มดำเนินการบางส่วนแล้ว โดยในการจัดทำค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ทุก 4 เดือนนั้น ได้แยกค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนให้เห็นชัดเจน ซึ่งล่าสุดค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนซึ่งอยู่ใน Ft ประมาณ 32.28 สตางค์ต่อหน่วย หรือเป็นวงเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องช่วยอุดหนุนรวม 19,934 ล้านบาท สำหรับ 4 เดือน นอกจากนี้ยังมีอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแฝงอยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน ที่ต้องแยกออกมาด้วย ซึ่งหากรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย
"กกพ.ยอมรับว่าการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอนาคตตามแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพช.เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 ที่กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าใหม่ โดยมาจากพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 50% นั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมให้เพิ่มขึ้น แต่นโยบายรัฐมองว่าต้องดำเนินการให้เป็นไปตามทิศทางโลกที่มุ่งเน้นพลังงานทดแทน เพื่อไม่ให้ถูกมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต"
อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานและ กกพ.มีหน้าที่ต้องเลือกชนิดของพลังงานทดแทนให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และลดภาระประชาชนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้