รฟท.เสียโอกาสล้างหนี้ ผ่อนแอร์พอร์ตลิงก์

05 พ.ย. 2564 | 23:00 น.

โวยบิ๊กตู่-อีอีซี อุ้มไฮสปีดผ่อนค่าโอนสิทธิ์ บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ด่านแรกสัญญาไฮสปีด ทำรฟท.เสียโอกาส ล้างหนี้  3.5 หมื่นล้านกับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้สถาบันการเงิน ต้องกู้เพิ่มจ่ายหนี้-เสริมสภาพคล่องแทน

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เตรียม แก้ไขสัญญา โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  ในส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์  ให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด  บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี คู่สัญญา เพื่อเยียวยาโควิด-19 จากเดิมที่ต้องชำระเงินค่าโอนสิทธิ์เข้าบริหารกิจการ 100% วงเงิน 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564

ปรับเป็น แบ่งชำระ 10 งวด 10 ปี ตามข้อเสนอเอกชนและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ตุลาคม สวนทางกับคนรถไฟ และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มองว่า สัญญาใหม่ อาจทำให้รฟท.เสียเปรียบและหากชำระหนี้คืนกระทรวงการคลังล่าช้า จะมีผลต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

 

แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน เป็นการร่วมทุนร่วมกันระหว่างรฟท.กับเอกชนดังนั้นหาก เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดอย่างสถานการณ์โควิด รัฐมีความจำเป็นต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว รัฐ เองจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ยอมรับว่ารฟท.อาจเสียโอกาสในการชำระหนี้คืนกระทรวงการคลัง ที่จะจบภายในปีนี้ สำหรับโครงการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์

นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการ ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ระบุว่า ผลกระทบจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมส่งผลให้ รฟท. เสียโอกาสชำระหนี้วงเงิน 35,000 ล้านบาทจากโครงการลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ ให้กับกระทรวงการคลัง

ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้สถาบันการเงินให้กับรฟท. โดยตกลงกันว่า หากมีการโอนเงินส่วนแรก 10,671 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังจะปลดล็อกหนี้ให้ ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้รฟท.ที่มีอยู่ 1.8แสนล้านบาทในปัจจุบัน ให้เหลือเพียง 1.6 แสนล้านบาท เท่ากับ รฟท.ต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง และชำระหนี้กระทรวงการคลังทำให้มีภาระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามชุดทำงาน อยู่ระหว่างต่อรองเอกชน ขอให้การผ่อนค่างวดสั้นลง ก่อนแก้ไขสัญญา ใน 3 เดือน ประกอบด้วย 1.รฟท. 2.สกพอ. และ3.คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) หรือผู้แทนรัฐบาล “ที่ผ่านมา สหภาพฯ ได้คัดค้านมาโดยตลอด ว่าไม่ควรยกแอร์พอร์ตลิงก์ให้เอกชน ดูแลเพราะรฟท.สามารถพัฒนา จากรถไฟชานเมืองเป็นรถไฟฟ้า และบริหารจนเกือบมีกำไร”

 นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กล่าวว่า ในส่วนการเดินรถ ทางบริษัทยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมในการเดินรถและซ่อมบำรุง ทั้งเจ้าหน้าที่การควบคุมรถไฟฟ้า พนักงานขับรถไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่ของสถานี ได้ผ่านการฝึกอบรมทั้งหมดแล้ว โดยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พนักงานของบริษัทเอเชีย เอราวัน เข้าทำงานแล้ว เบื้องต้นยังไม่ได้พบปัญหาแต่อย่างใด

 “ปัจจุบันพนักงานได้เข้ามาทำงานครบเกือบ 100% แล้ว ในส่วนของบริษัทยังมีพนักงานบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้ามาดำเนินการในการจัดเก็บรายได้ ซึ่งบริษัทจะต้องควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานการเดินรถของ KPI ที่กำหนดไว้ เช่น การตรงต่อเวลา ความถี่ในการเดินรถ ฯลฯ”

  นายสุเทพ กล่าวต่อว่าจากสถานการณ์โควิดบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนมากนัก แต่การจัดเก็บรายได้ของรฟท. ในปี 2563- 2564 ลดลง 60% มาจากจำนวนผู้โดยสารลดลง คาดว่าในปี 2565 รายได้จะกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 70-80% เนื่องจากสถานการณณ์ดีขึ้นจากการฉีดวัคซีน และนโยบายการเปิดประเทศโดยปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ใช้บริการ 30,000 คนต่อวัน จากเดิมต่ำสุด 10,000 คนต่อวัน

หาก เทียบช่วง 10ปีนั้บตั้งแต่เปิดให้บริการ พบว่ามีผู้โดยสารกว่า 200 ล้านคน เพิ่มขึ้นทุกปีนับจากปีแรกจนถึงช่วงก่อนเกิดโควิดที่ 80,000-90,000 เที่ยวคนต่อวัน ทำให้มีรายได้ 800 ล้านบาทต่อปี แต่ช่วงโควิด ยอดผู้ใช้บริการลดลง 80% เหลือ 10,000 เที่ยวคนต่อวัน ส่งผลให้รายได้ลดลง อยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อปี

                ขณะปี 2564 บริษัทมีรายได้ อยู่ที่ 173 ล้านบาท ผู้โดยสาร 6 ล้านคน และปี 2563 มีราย 430 ล้านบาท ผู้โดยสาร 14 ล้านคน สำหรับงบกำไรของบริษัทในปี 2562 พบว่า มีรายได้การรับจ้างบริหารเดินรถ อยู่ที่ 271 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 287 ล้านบาท โดยมีกำไร (ขาดทุน) ต่อปี อยู่ที่ 15 ล้านบาท และมีกำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จรวมต่อปี อยู่ที่ 23 ล้านบาท ส่งผลให้มีการขาดทุนสะสมอยู่ที่ 158 ล้านบาท ขณะที่งบกำไรของบริษัทในปี 2561 พบว่า มีรายได้การรับจ้างบริหารเดินรถ อยู่ที่ 257 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 261 ล้านบาท โดยมีกำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จรวมต่อปี อยู่ที่ 4.15 ล้านบาท ส่งผลให้มีการขาดทุนสะสมอยู่ที่ 135 ล้านบาท ส่วนงบกำไรของบริษัทในปี 2560 พบว่า มีรายได้การรับจ้างบริหารเดินรถ อยู่ที่ 237 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 240 ล้านบาท โดยมีกำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จรวมต่อปี อยู่ที่ 2.4ล้านบาท ส่งผลให้มีการขาดทุนสะสมอยู่ที่ 130 ล้านบาท