"ปตท.สผ."กำไร 9 เดือนกว่า 2.8 หมื่นล.-ปรับเป้าขายเพิ่มเป็น 417,000 บาร์เรล

28 ต.ค. 2564 | 11:12 น.

ปตท.สผ. เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 28,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมปรับเป้าหมายปริมาณขายเพิ่มขึ้นเป็น 417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันสำหรับปี 2564

ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนปี 2564 ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.  มีรายได้รวม 5,331 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 168,409 ล้านบาท จากปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 414,516 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับ 344,909 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 64 ดังกล่าวเพิ่มขึ้น 31% จาก 4,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 128,369 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเข้าร่วมทุนในแปลง 61 ประเทศโอมาน และการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย – แปลงเอช ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณขายให้กับบริษัทได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.

ประกอบกับผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติได้เรียกรับก๊าซธรรมชาติจากโครงการในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 42.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จาก 39.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ด้านค่าใช้จ่ายรวมในรอบ 9 เดือนของปีนี้ อยู่ที่ 4,453 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จาก 3,459 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 108,762 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากการบันทึกรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติ (Non-recurring) ได้แก่ การรับรู้ผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน และการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ของโครงการสำรวจในประเทศบราซิล
ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 639 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,137 ล้านบาท
โดยสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ที่ 28.18 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงจาก 30.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการบริหารจัดการต้นทุน 

ปตท.สผ. กำไรสุทธิ 9 เดือน 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และการเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ของโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช และการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งมีต้นทุนต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ร้อยละ 74 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังคงสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง
สำหรับผลประกอบการของไตรมาส 3 ปี 2564 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,784 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 58,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จาก 1,305 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40,887 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จาก 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,202 ล้านบาท จากการเติบโตของปริมาณการขายและราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
“ธุรกิจพลังงานเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเป็นผลมาจากที่หลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปรวมทั้งประเทศไทยมีการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์และการเดินทาง จึงส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึง ปตท.สผ."
นอกจากนี้ ความสำเร็จจากการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ Execute & Expand ส่งผลให้มารถเพิ่มเป้าหมายการขายเฉลี่ยขึ้นอีกครั้งเป็น 417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากที่ได้ปรับเพิ่มไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ 412,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน อีกทั้ง การเข้าร่วมลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ และการค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซฯ อย่างต่อเนื่องในมาเลเซีย เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว 
อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ จากบริษัท ซีนุค (CNOOC Limited) ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสัดส่วนการลงทุนในโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 49% จาก 24.5% และคาดว่าโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ จะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ไตรมาส 4 ปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นประมาณ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน