“กรมปศุสัตว์” ดันมาตรฐานสากล ตีตลาดโลก

12 ต.ค. 2564 | 12:35 น.

อะิบดีกรมปศุสัตว์ โชว์ออฟ ผนึก "เกษตรกร- เอกชน" ดันมาตรฐานสากล ผลิตปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ฟาร์ม จนถึงเนื้อสัตว์ สู่ผู้บริโภค ตีตลาดโลก มั่นใจส่งออกได้เพิ่มขึ้น

กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและสนับสนุนการผลิตปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ จนถึงเนื้อสัตว์สู่ผู้บริโภค ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันได้มีการผลักดันการเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมให้พัฒนารูปแบบการเลี้ยงแบบเดิมที่มีการสนใจในด้านการผลิตจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ ต้องถูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามธรรมชาติไป เช่น การขังกรงแคบๆ ไปสู่การทำฟาร์มเชิงปราณีตที่ใส่ใจในทุกมิติทั้งระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อป้องกันโรคต่างๆเข้าสู่ฟาร์ม นั้น

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

​​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า  จากความสำเร็จของระบบคอมพาร์ทเมนต์ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยที่ทำให้ไทยปลอดไข้หวัดนกมาอย่างต่อเนื่อง การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทำให้สุกรจากไทยยังผลิตและส่งออกไปต่างประเทศได้ หรือการควบคุมโรคลัมปีสกินในฟาร์มโค กระบือ  

 

แต่การป้องกันและควบคุมโรคเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์สังคมในปัจจุบันต้องมีการพัฒนาการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นรวมทั้งการควบคุมและลดการใช้ยาปฎิชีวนะในฟาร์มให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพคน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงระบบการเลี้ยงสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องหลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ได้นำไปใช้ปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ให้มีสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ซึ่งมีการอ้างอิงสอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามหลักอิสระ 5 ประการ ประกอบด้วย

 

 

1. สัตว์ที่เลี้ยงมีอิสระจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง (Freedom from hungry and thirsty) 

 

2. มีอิสระจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม (Freedom from discomfort)

 

3. มีอิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือเป็นโรค (Freedom from pain, injury and disease)  โดยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี หรือ การใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม พื้นที่การเลี้ยงที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสัตว์

 

4. มีอิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน (Freedom from fear and distress) ด้วยสภาวะการเลี้ยงดูที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ

 

5. มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ (Freedom to express normal behavior) คือมีอิสระการเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ และมีความสบายตามชนิดของสัตว์นั้นๆ

 

นอกจากด้านสวัสดิภาพสัตว์แล้วกรมปศุสัตว์ยังได้ตระหนักถึงปัญหาของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มปศุสัตว์  โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้มีนโยบายให้ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างสมเหตุผลคือให้มีการใช้ยาเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาปฏิชีวนะ โดยมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมอาหารสัตว์ที่ผสมยา 

 

โดยการจะผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาได้ ต้องได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดีในโรงงาน (GMP) และต้องมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมระบบการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาซึ่งได้รับการอบรมจากกรมปศุสัตว์

 

ทั้งนี้ การจะผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาต้องผลิตภายใต้ใบสั่งใช้ยาของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การใช้ยาในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์: มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9032-2552 ซึ่งเป็นข้อกำหนดหนึ่งของฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)

 

โดยควบคุมการใช้ยาให้ถูกต้อง  ตรงตามฉลากยาที่ระบุไว้ตามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีระยะหยุดยาก่อนส่งโรงฆ่าสัตว์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

 

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ได้แก่ การลดใช้ยาปฏิชีวนะ การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised without Antibiotics: RWA) รวมทั้งส่งเสริมการใช้สมุนไพร และโพรไบโอติกส์ ส่งผลให้ภาคการเลี้ยงสัตว์ที่มีเป้าประสงค์หลักตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยายาต้านจุลชีพประเทศไทย 2560-2564 ให้ลดการใช้ยาในสัตว์ลด 30% ภายในปี 2564

 

ทั้งนี้รวมไปถึงการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมโดยกรมปศุสัตว์ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านนี้คือ กรมควบคุมมลพิษ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำไปสู่การขยายผลจัดทำร่างแผนชาติเชื้อดื้อยาในอีก 5 ปี (ปี 2566-2570) จากนโยบายเหล่านี้ ทั้งด้านสวัสดิภาพสัตว์และการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน    

 

ทั้งหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล มีการห่วงใยใส่ใจสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ คำนึงถึงความปลอดภัยของเนื้อสัตว์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี