"กนอ." เล็งสร้างโรงไฟฟ้า-โรงพยาบาลพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้

12 ต.ค. 2564 | 08:02 น.

กนอ.เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ แก้ปัญหาไฟตก พร้อมสร้างโรงพยาบาล เพิ่มความมั่นคงด้านสุขภาพควบคู่กับอุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (ระยะที่ 1) อ.สะเดา จ.สงขลา และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาว่า ได้มอบนโยบายในการบริหารจัดการนิคมฯ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้า การพัฒนาระบบน้ำดิบ แผนการขายและเช่าพื้นที่ 
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบสาธารณูปโภคในนิคมฯ รวมทั้งร่วมประชุมกับนายรัตน์นริศ สุวรรณรัตน์ สาธารณสุขอำเภอหาดใหญ่ นางสุดา นิยมเดชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ฉลุง และผู้นำชุมชน เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่นิคมฯ ภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพควบคู่กับความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

สำหรับแนวทางในการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น ได้มอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแบบประเมินด้านงบประมาณและสถานที่ เพื่อนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.(บอร์ด กนอ.) เพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขต่อไป โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 1 ปี จะสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่นิคมฯ ภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับความประสงค์ของประชาชนโดยรอบนิคมฯ และผู้ประกอบการในนิคมฯ ที่ต้องการยกระดับสุขภาพและสร้างความยั่งยืนในพื้นที่

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้
ขณะเดียวกันได้หารือถึงแนวทางสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มเติมอีก เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ซึ่งมักเกิดขึ้นประจำในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบการได้เคยสะท้อนมาแล้ว กนอ.จึงจะหาแนวทางร่วมทุนกับเอกชนผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน หรืออาจลงทุนเองในรูปแบบบริษัทลูก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือภายใน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ 
อย่างไรก็ดี ยังหารือถึงประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานน้ำ โดยผู้ประกอบการต้องการให้ กนอ.สนับสนุนการเข้าถึงการใช้น้ำดิบมากขึ้น เพื่อลดภาระด้านต้นทุนในการประกอบการ เนื่องจากต้นทุนน้ำประปาค่อนข้างสูง และหากจะดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนในนิคมฯ นั้น จะต้องสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติม

“กนอ.มีจุดประสงค์ให้ผู้ประกอบการและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ทั้ง Stake Holder เรื่องน้ำ ไฟฟ้า ค่าเช่า ทุกอย่างที่ผู้ประกอบการสะท้อนเข้ามาเรารับฟังและต้องเร่งนำไปปฏิบัติเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ เกิดประโยชน์ทั้งในแง่สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนในนิคมฯ ภาคใต้ ซึ่งยังมีศักยภาพอยู่มาก โดยเรามีความพร้อมมากตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”