อาเซียน-เกาหลีใต้ เดินหน้าอัพเกรด FTA เล็งลดภาษีเพิ่ม

26 ก.ย. 2564 | 10:04 น.

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ เดินหน้าอัพเกรด FTA ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าเพิ่มเติม พร้อมเร่งรัดให้พิธีสารแก้ไขความตกลงการค้าสินค้ามีผลบังคับใช้โดยเร็ว ด้านเกาหลีใต้พร้อมร่วมมืออาเซียนตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยมาตรฐาน และการพัฒนาสตาร์ทอัพ

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมหารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–เกาหลีใต้ ครั้งที่ 18 มีการหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-KOREA Free Trade Agreement : AKFTA) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยมาตรฐาน และการพัฒนาสตาร์ทอัพ

อาเซียน-เกาหลีใต้ เดินหน้าอัพเกรด FTA เล็งลดภาษีเพิ่ม

โดยที่ประชุมยังได้เร่งรัดให้เวียดนามซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายของอาเซียนที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่สามเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKTIGA) ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้พิธีสารมีผลใช้บังคับ เนื่องจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในเรื่องการลงนามและประทับตราอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ประชุมยังสนับสนุนให้สมาชิกเดินหน้าเปิดตลาดลดและยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าในรายการสินค้าเพิ่มเติมตามแผนที่ระบุไว้ในความตกลงและให้ศึกษาเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ให้ทันสมัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับเกาหลีใต้ได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องต่างๆ อาทิ การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ การจัดตั้งศูนย์วิจัยมาตรฐานอาเซียน-เกาหลีใต้ สำหรับพัฒนามาตรฐานให้กับภาคอุตสาหกรรม และจัดทำแผนงานนโยบายสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 64 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของไทย โดยการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 9,102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นการส่งออกจากไทยไปเกาหลีใต้ มูลค่า 3,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.6% และนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 5,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.7% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า