จีนร่วมวง CPTPP ดันการค้าเอเชียพุ่ง จับตาไทยขาดดุลการค้าพญามังกรเพิ่ม

19 ก.ย. 2564 | 07:25 น.

การค้าโลกร้อนขึ้นมาทันทีต่อกรณีที่จีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก และผู้ครองตลาดการค้าอันดับต้น ๆ ของโลก ได้ยื่นใบสมัคร(16 ก.ย.64)เพื่อแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

 

ปัจจุบัน CPTPP มีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ หลังสหรัฐฯซึ่งเป็นริเริ่มความตกลงนี้ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเมื่อปี 2560 (โดยโดนัลด์ ทรัมป์) ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน CPTPP มีสมาชิก  11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย แลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน

 

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศในการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปก)เมื่อเดือน พ.ย.2563 ว่าจีนกำลังพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP และก็ปรากฏรูปธรรมของการดำเนินการในวันนี้

 

อย่างไรก็ดีเพียงแค่จีนเริ่มต้นนับ 1 ใน CPTPP ก็เจอแรงต้านจากประเทศสมาชิก CPTPP อาทิ ออสเตรเลียได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าไม่เต็มใจที่จะยอมรับการเจรจาขอเข้าร่วม CPTPP  ของจีน ยกเว้นข้อพิพาททางการค้าของจีน-ออสเตรเลียที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ จีนจะยอมยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้สินค้าของออสเตรเลียในอัตราสูงในหลายสินค้าเสียก่อน เช่น ไวน์ ข้าว บาร์เลย์ ขณะที่ไต้หวันที่จีนระบุเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน แสดงความวิตกกังวลว่าการสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสของไต้หวันในการเข้าร่วม CPTPP ในอนาคต ไม่นับรวมญี่ปุ่นที่เป็นพี่ใหญ่ใน CPTPP ในตอนนี้ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีที่จีนจะขอเข้าร่วม

 

ขณะเดียวกันการแสดงเจตจำนงเพื่อขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP  ของจีน(จากที่หลายฝ่ายจับตาว่าสหรัฐฯในสมัยโจ ไบเดน จะกลับเข้าร่วมความตกลงเพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคเอเชียหรือไม่) หลายฝ่ายมองเป็นความพยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่การเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP ของจีนยังต้องผ่านมติเอกฉันท์จาก 11 ประเทศสมาชิก ดังนั้นถือว่าเส้นทางการเข้าร่วม CPTPP ของจีนยังต้องฝ่าด่านหินอีกหลายยก

 

จีนร่วมวง CPTPP ดันการค้าเอเชียพุ่ง จับตาไทยขาดดุลการค้าพญามังกรเพิ่ม

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของไทย มีคำถามว่า หากจีนสามารถฝ่าด่านเข้าร่วมวง CPTPP ได้สำเร็จ ขณะที่ไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะขอยื่นเจตจำนงเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ (ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ.ที่มีนายดอน  ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมในการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ของไทยซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป จากก่อนหน้านี้ยังมีความเห็นต่างถึงผลดี-ผลเสียที่จะตามมาของหลายภาคส่วน ซึ่งต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ) จะเกิดผลดี-ผลเสียต่อไทยมากน้อยเพียงใดหากไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการเจรจา เพราะการที่จีนตัดหน้าไทยทำหนังสือแสดงเจตจำนงขอร่วมเจรจา CPTPP ในครั้งนี้ ยอมมีผลต่อเป้าหมายที่ไทยจะได้รับจากความเข้าร่วม CPTPP ที่จะเปลี่ยนแปลงไป จากจีนจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ

 

ทั้งนี้จากผลการศึกษาเดิมที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ว่าจ้างบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) ทำการศึกษาได้วิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากเข้าร่วม CPTPP ในด้านผลบวก เช่น GDP จะขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท  การลงทุนจะขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท และการส่งออกจะขยายตัว 3.47% คิดเป็นมูลค่า 271,340 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท สินค้าที่มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิก CPTPP ต้องเปิดตลาดให้ไทยมากกว่า FTA ในปัจจุบัน(สมาชิก CPTPP ณ ปัจจุบัน ไทยมี  FTA แล้วเกือบทุกประเทศ ยกเว้น แคนาดา และเม็กซิโก ที่ยังไม่มี FTA ระหว่างกัน) เช่น ไก่แปรรูป น้ำตาล ข้าว อาหารทะเล ผลไม้สด / แห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

 

ส่วนผลลบต่อไทย กรณีไม่เข้าร่วม CPTPP เช่น GDP จะลดลง 0.25% คิดเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนจะลดลง 0.49% คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท และการส่งออกจะลดลง 0.19% คิดเป็นมูลค่า 14,560 ล้านบาท และการจ้างงานและผลตอบแทนแรงงานจะลดลง 8,440 ล้านบาท จากผลการศึกษาสรุปไทยได้มากกว่าเสีย (แต่ยังไม่นับรวมผลลบที่อาจตามมาด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ที่ยังเป็นข้อกังขาของภาคประชาชน) 

 

จีนร่วมวง CPTPP ดันการค้าเอเชียพุ่ง จับตาไทยขาดดุลการค้าพญามังกรเพิ่ม

 

อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบันในด้านการค้า  ในปี 2563 ไทยมีการค้ากับกลุ่ม CPTPP มูลค่ารวม  3.90 ล้านล้านบาท (ขยายตัวลดลง หรือติดลบ -10.45% เมื่อเทียบกับปี 2562)  คิดเป็นสัดส่วน 28.57% ที่ไทยค้ากับโลก โดยไทยส่งออก 2.10 ล้านล้านบาท (-7.01%) คิดเป็นสัดส่วน  29.33% ของการส่งออกในภาพรวม และนำเข้า 1.79 ล้านล้านบาท (-14.17%) คิดเป็นสัดส่วน 27.72% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยได้ดุลการค้ากลุ่ม CPTPP  3.11 แสนล้านบาท

 

ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 การค้าไทย-CPTPP มีมูลค่า 2.64 ล้านล้านบาท (ขยายตัวเพิ่มขึ้น +19.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563) คิดเป็นสัดส่วน 27.98% ที่ไทยค้ากับโลก โดยไทยส่งออก 1.36 ล้านล้านบาท (+14.90%) คิดเป็นสัดส่วน 28.90% ของการส่งออกในภาพรวม และนำเข้า 1.27 ล้านล้านบาท (+25.63%) คิดเป็นสัดส่วน 27.06% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยได้ดุลการค้า 9.12 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP /อาร์เซ็ป) หรือเอฟทีเออาเซียนบวก 6 (อาเซียน 10 ประเทศ บวก 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์(ยกเว้นอินเดีย)) ที่สมาชิกได้ร่วมลงนามความตกลงไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้ความตกลง RCEP กลายเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประชากรกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจ(GDP)รวมกันกว่า 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 29% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้ารวม 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลก ที่คาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้นั้น

 

ในปี 2563 การค้าไทย-RCEP มีมูลค่ารวม 8.16 ล้านล้านบาท(คิดเป็นสัดส่วน 59.78% ที่ไทยค้ากับโลก) ขยายตัวลดลง หรือติดลบ -8.75% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยไทยส่งออก 3.99 ล้านล้านบาท (-8.05%) คิดเป็นสัดส่วน 55.65% ของการส่งออกในภาพรวม ไทยนำเข้า 4.16 ล้านล้านบาท (-9.40%) คิดเป็นสัดส่วน 64.35% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยขาดดุลการค้า 1.69 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นการขาดดุลการค้าจีนโดยปี 2563 ไทยขาดดุลการค้าจีน 6.40 แสนล้านบาท)

 

ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 การค้าไทย-RCEP มีมูลค่ารวม  5.72 ล้านล้านบาท (สัดส่วน 60.71% ที่ไทยค้ากับโลก) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออก 2.70 ล้านล้านบาท (+17.24%) คิดเป็นสัดส่วน 57.21% ของการส่งออกในภาพรวม ไทยนำเข้า 3.02 ล้านล้านบาท (+28.59%) คิดเป็นสัดส่วน 64.23% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยขาดดุลการค้า 3.22 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่ขาดดุลการค้าจีน  7 เดือนแรกปี 2564 ไทยขาดดุลการค้าจีน 4.88 แสนล้านบาท)

 

จากข้อมูลจะเห็นว่าการค้าเสรีภายใต้กรอบ FTA ไม่ว่าจะเป็นในกรอบใด ไทยมีโอกาสทั้งได้และเสีย เพราะความตกลงเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยไทยอาจจะได้ดุลการค้ากับประเทศหนึ่ง แต่อาจขาดดุลการค้ากับอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะการขาดดุลการค้ากับจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (ปี 2563 การค้าไทย-จีน คิดเป็นสัดส่วน 20% ที่ไทยค้ากับโลก) โดยสินค้าที่ไทยนำเข้า 5 อันดับแรกจากจีนได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์

 

 ทั้งนี้หากทั้งจีนและไทยสามารถเข้ารวม CPTPP ได้สำเร็จ การค้าไทยกับกลุ่ม CPTPP ก็มีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ไทยมีโอกาสได้ดุลการค้าประเทศสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยก็มีโอกาสที่จะขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากต้องเปิดกว้างทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น