พิบัติภัยน้ำท่วมบางปู ปรับแนวรบนิคมอุตสาหกรรม

19 ก.ย. 2564 | 02:46 น.

พิบัติภัยน้ำท่วมบางปู ปรับแนวรบ นิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้กระทบเศรษฐกิจภาพรวม "สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. -รองผู้อำนวยการน้ำแห่งชาติ ย้ำนิคมฯบางปู ต้องเพิ่มขีดวามสามารถในการระบายน้ำ -เครื่องสูบน้ำ

 

กรณีน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ภัยพิบัติที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองหากไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจาก ภายในมีโรงงานตั้งอยู่ 361 โรง เงินลงทุนรวม 2 แสนกว่าล้านบาท มูลค่าการส่งออกร่วม 5 หมื่นล้านบาท ย่อมเป็นดัชนีชี้ความสำคัญในตัวครบถ้วน

 

  ย้อนไปกว่า44ปี หรือปี 2520 นิคมอุตสาหกรรมบางปู ตั้งขึ้นบนพื้นที่กว่า5,000ไร่  เป็นการร่วมทุนของภาครัฐโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กับภาคเอกชน โดย บริษัท พัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมประเทศไทย จำกัด เมื่อมีนิคมฯขนาดใหญ่เกิดขึ้นความเจริญก็ตามมาโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย

  ชนวนน้ำท่วมใหญ่ ภายในนิคมฯ พบว่าที่ตั้งนิคมฯบางปู อยู่ระหว่างถนนแพรกษาด้านเหนือกับถนนสุขุมวิทด้านใต้ รูปที่ดินมีลักษณะเอียงไปทางขวาเล็กน้อย ขณะด้านซ้ายของนิคมฯ บางปู เป็นเมืองโบราณ ,นิคมฯ แพรกษา ส่วนด้านขวามีสนามกอล์ฟบางปู พื้นที่โดยรอบมีชุมชนขนาดใหญ่เกิดขึ้น  ร้านค้า อาคารพาณิชย์ ตลอดแนวถนนที่เข้าสู่ตัวนิคมฯไม่ต่างจากเมืองๆหนึ่งในสมุทรปราการ

ที่สำคัญ ชุมชนที่เกิดขึ้นภายหลัง มาพร้อมกับการยกระดับพื้นที่ ถนนสูงขึ้น อาคารบ้านเรือนสูงตาม ถนนในขณะพื้นที่นิคมฯ มีระดับถนนเท่าเดิม ทำให้มีสภาพเป็นแอ่งรับน้ำเมื่อฝนตกหนัก การรับมือแม้จะมีเครื่องมือบริหารจัดการน้ำหลายอย่าง อาทิ แก้มลิง หรือบ่อพักน้ำหลายจุดไว้หน่วงน้ำ ความจุรวม 347,500 ลูกบาศก์เมตร สถานีสูบน้ำและเครื่องสูบน้ำทั้งของตัวเองและจากการสนับสนุนจากภายนอก 99,200 ลบ.ม./ชั่วโมง หรือประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

            เมื่อฝนช่วง 27-29 สิงหาคม 2564 รอบ นิคมฯ บางปูตกหนัก ต่อเนื่องวัดได้อย่างน้อย 273 มม. ปริมาณน้ำในนิคมฯ เอง ประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะเกินกำลังการระบาย 2 ล้าน ลบ.ม./วัน เท่านั้น ไม่นับปริมาณน้ำที่หลากเข้านิคมฯ บางปู ทางคลองหกส่วนหรือคลองลำสลัด ซึ่งวัดปริมาณไม่ได้ แต่ปัญหาใหญ่รอบพื้นที่นิคมฯ และพื้นที่ต่อเนื่องรวม 4 อำเภอ

ขณะนั้นมีฝนตกหนักน้ำท่วมเช่นกัน ลำน้ำรอบๆ นิคมฯ บางปู ทางด้านตะวันตกและด้านใต้ ถูกบุกรุกจนไม่สามารถระบายได้โดยสิ้นเชิง เส้นทางน้ำที่ใช้ระบายเป็นหลักทางตะวันออกของนิคมฯ เป็นคลองลำสลัด ก็ตื้นเขิน มีน้ำมาก และสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงปลายคลองเป็นคอขวด มีน้ำจากบริเวณอื่นไหลลงมาสมทบ ก่อนออกสู่คลองชายทะเล และลงสู่ทะเลตามลำดับ ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างทุลักทุเล

พิบัติภัยน้ำท่วมบางปู  ปรับแนวรบนิคมอุตสาหกรรม

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และรองผู้อำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนอช.) กล่าวว่า ปัญหาของนิคมฯ บางปู มีแนวทางแก้ไขทั้งภายในตัวนิคมฯ เอง ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ และต้องเพิ่มเครื่องสูบน้ำ โดยหาตำแหน่งเหมาะสมสำหรับติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำรองไว้ล่วงหน้า ถึงเวลาฝนตกหนักระบายน้ำได้ทันที

พิบัติภัยน้ำท่วมบางปู  ปรับแนวรบนิคมอุตสาหกรรม

            ในพื้นที่นิคมฯ เอง มีคลองหกส่วนจากภายนอกผ่านเข้ามาในพื้นที่นิคมฯ ด้วย เท่ากับนำน้ำจากภายนอกเข้าสู่ภายในนิคมฯ  จำเป็นต้องมีระบบปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้า

            ส่วนนอกตัวนิคมฯ บางปู คลองลำสลัดที่เป็นคลองหลักในการระบายน้ำต้องปรับปรุงทั้งคลอง เพื่อให้น้ำไหลระบายได้คล่อง พอถึงคลองชายทะเลที่รับน้ำ  กรมชลประทานนอกจากเร่งสูบระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็วแล้ว ก่อนน้ำหลากอาจต้องพร่องน้ำรองรับไว้ก่อน

            เช่นเดียวกับคลองอื่นๆ ในพื้นที่ และต่อเนื่องไปจนถึงคลองชายทะเล กรมชลประทานต้องเพิ่มเครื่องสูบน้ำ เพื่อผลักดันน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว

            ดังนั้น การแก้ไขปัญหาของนิคมฯ บางปู จำเป็นต้องมองทั้งระบบ ทั้งในตัวนิคมฯ และพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งคูคลองต่างๆ ที่ต้องเชื่อมโยงถึงกันจนไปออกสู่ทะเล

“ต่อให้ระบบระบายน้ำภายในดี สูบออกคล่อง แต่มีน้ำจากภายนอกไหลเข้ามาเติม หรือน้ำรอบนิคมฯ สูง การระบายออกก็มีปัญหาอยู่ดี”

            ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.กอนช. กังวลต่อกรณีน้ำท่วมนิคมฯ บางปู โดยให้พิจารณาสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะในภาคกลางที่จะมีผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในเขตกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ

            “รูปการณ์ที่เกิดในนิคมฯ บางปู ทำให้ต้องประเมินสถานการณ์น้ำในนิคมฯ อื่นๆ ให้มากกว่าในอดีต และมากกว่าขีดความสามารถในการระบายน้ำที่เป็นอยู่เป็นเท่าตัว  อย่างในนิคมฯ บางปู ระบายน้ำได้มากถึง 2 ล้าน ลบ.ม./วัน ก็จริง แต่มีน้ำมากถึง 4 ล้าน ลบ.ม. กระทบต่อตัวโรงงาน ต้องใช้เวลาสูบออกถึง 2 วัน”

            อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า นิคมฯ กับพื้นที่ชุมชนโดยรอบจำเป็นต้องบูรณาการแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายลดความเสี่ยงเรื่องน้ำไปด้วยกัน แม้นิคมอุตสาหกรรมจะได้ชื่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจก็ตาม

            “น้ำไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรม แต่ชุมชนรอบนิคมฯ กลับท่วม อย่างนี้คงไม่ถูกต้อง ต้องไปพร้อมๆ กัน รอดด้วยกัน ฉะนั้น การจัดทำแผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกฝ่ายทั้งส่วนราชการ จังหวัด กรมชลประทาน กรมทางหลวง นิคมฯ  และชุมชน ต้องมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน” ดร.สมเกียรติกล่าว