ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงน้ำสาธารณะ 5 ฉบับรวด-สั่งรับมือน้ำท่วมรายหมู่บ้าน

10 ก.ย. 2564 | 07:26 น.

“บิ๊กป้อม” ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงน้ำสาธารณะ 5 ฉบับรวด สั่งรับมือน้ำท่วมรายหมู่บ้าน หวังลดผลกระทบ ประเมินพายุ ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่ประมาทไม่ได้

วันที่ 10 กันยายน 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2564 ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล ผ่านศูนย์ประชุมวิดีโอ โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมประชุม พร้อม VDO Conference ไปยังผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ เป็นต้น

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เผยหลังจากการประชุมว่า ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และรับทราบความก้าวหน้าตาม 10 มาตรการฤดูฝน โดยเน้นย้ำทุกหน่วยงานเตรียมแผนก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัยให้เป็นรูปธรรมและชัดเจนเป็นรายพื้นที่

 

โดยเฉพาะจุดเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมทั้งในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่ต้องมีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ถึงประชาชนโดยเร็ว เพื่อเตรียมการอพยพป้องกันผลกระทบให้เกิดได้น้อยที่สุด ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ฝน (One Map) พบว่า ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.64 ปริมาณฝนทั้งประเทศจะมีค่ามากกว่าค่าปกติถึง 7-15%

 

ขณะที่แนวโน้มการเกิดพายุขณะนี้ พบว่า ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่ก็จะประมาทไม่ได้ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสื่อสารต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวได้ทันต่อสถานการณ์ภัยที่จะเกิดขึ้น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับกรณีฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อรองรับน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นเป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด

โดยแบ่งเป็น เดือน ก.ย.-ต.ค.64 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง และเดือนพ.ย.-ธ.ค.64 ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแจ้งให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดรับทราบและซักซ้อมการเผชิญเหตุ เร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำ รวมทั้งเน้นย้ำให้วางแผนเร่งเก็บกักน้ำก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝนเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย

 

คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ อ่างใหญ่

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบการขับเคลื่อนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมาของหน่วยงานเกี่ยวข้อง และร่วมกันพิจารณาแผนงาน/โครงการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชนต่อไป โดยเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2566 จำนวน 2 โครงการ ที่จะสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ได้แก่

 

1.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 2565–2570) เก็บกักน้ำต้นทุนได้ 27.50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อแล้วเสร็จสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 35,000 ไร่ ฤดูแล้ง 7,000 ไร่ และเสริมศักยภาพผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง โดยให้กรมชลประทานปรับแผนการเตรียมความพร้อมจัดหาที่ดินในปี 2565 ให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2566 รวมถึงทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

2.โครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ปี 2565–2568) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสูบน้ำกลับเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่มอีก 50 ล้าน ลบ.ม./ปี ประกอบด้วย โรงสูบผันน้ำ เครื่องสูบน้ำ ระบบท่อผันน้ำและอาคารทิ้งน้ำ โดยให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการโครงการเติมน้ำให้อ่างฯประแสร์และกิจกรรมใช้น้ำจากอ่างฯประแสร์ให้เกิดความสมดุล ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ใน 38 โครงการตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับอีอีซี

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ดำเนินการโดย 8 หน่วยงาน รวม 84 โครงการ ดำเนินตั้งแต่ปี 2564–2574 แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน กลาง และยาว เพื่อให้คลองแสนแสบมีระบบขนส่งและมีความปลอดภัยทางน้ำ ที่สำคัญคือ ช่วยแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบได้อย่างครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ ซึ่งจะสามารถป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.ได้เกือบ 1 แสนไร่ และ จ.ฉะเชิงเทรา บางส่วนด้วย

 

รวมถึงเห็นชอบแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทฯ และแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำ และให้ สทนช. นำไปเป็นองค์ประกอบในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และเส้นทางน้ำที่เหมาะสมในผังน้ำ หากแนวทางการดำเนินงานที่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการศึกษานโยบายภาพรวม   แล้วจึงให้หน่วยงานปฏิบัติรับไปดำเนินการตามภารกิจต่อไป

 

 

ส่วนการศึกษาด้านปฏิบัติ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามภารกิจให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในภาพรวม สำหรับงานวิจัย ให้สถาบันการศึกษาเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ โดยต้องเน้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ แผนงานโครงการที่ กนช.เห็นชอบในครั้งนี้แล้ว สทนช.จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงและประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ จำนวน 5 ฉบับ ใน 5 มาตรา แบ่งเป็น ร่างกฎกระทรวง 3  ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. ....  (มาตรา 41) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. .... (มาตรา 48)  และ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. .... (มาตรา 49)

 

ขณะที่ร่างประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง จัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำของประเทศ พ.ศ. .... (มาตรา 40)  และ 5.ร่างประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดทำข้อมูลการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งส่งต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. .... (มาตรา 42 วรรคสอง)

 

อย่างไรก็ดีการศึกษาและพิจารณายกร่างกฎกระทรวงและประกาศทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเรียบร้อยแล้ว   โดยร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ส่วนร่างประกาศ กนช. 2 ฉบับ หลังจากประธาน กนช.ลงนามเรียบร้อยแล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป.