คลองยักษ์‘ผันแม่นํ้ามูล’97กม. แก้อุบลราชธานี‘ท่วม-แล้ง’เด็ดขาด

18 ส.ค. 2564 | 07:07 น.

กรมชลประทานสรุปผลศึกษาแนวทางบรรเทาอุทกภัยอุบลราชธานีแล้ว เสนอสร้างคลองผันน้ำ กว้าง 112 เมตร 97 กิโลเมตร ชักน้ำจากเขื่อนหัวนา อ.วารินฯ ผันได้ 1,200 ลบ.เมตร/วินาที เลี่ยงชุมชนและเขตเมืองสองฝั่งน้ำมูล ก่อนจะระบายลงน้ำมูลอีกครั้งหลังแก่งสะพือ แก้"ท่วม-แล้ง"ทั้งลุ่มน้ำ

ปัญหาอุทกภัยซํ้าซาก ยืดเยื้อเพิ่มความถี่และหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ยังจำฝังใจคนอุบลราชธานี จนกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ศึกษาแนวทางบรรเทาอุทกภัยอุบลราชธานีอย่างยั่งยืนขึ้น ซึ่งผ่านการเสนอทางเลือกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่องจนได้ข้อสรุปแล้ว
   นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนส.ค.นี้ กรมชลประทาน โดยนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน (ฝ่ายวิชาการ) ได้จัดประชุมผ่านระบบออนไลน์กับทางจังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายสฤษดิ์วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีรองผู้ว่าฯ ผู้บริหารหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ และสื่อมวลชน
    

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ กล่าวว่า กรมชลประทานได้สรุปผลโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี หลังเปิดรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งแก้ไขปัญหาในภาพรวมทั้งลุ่มนํ้ามูลชี และโขง
    
สืบเนื่องจากเมื่อปี 2562 จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาอุทกภัยหนักที่สุดในรอบ 17 ปี จากอิทธิพลของพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ทำให้ระดับนํ้าในลำนํ้ามูลเอ่อท่วมสูง นํ้าหลากท่วมพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัยของชุมชนในหลายอำเภอ
  ภาวะน้ำท่วมในลุ่มน้ำมูลช่วงปลายลำน้ำก่อนลงแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นซ้ำซากและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะหลัง    

คลองยักษ์‘ผันแม่นํ้ามูล’97กม. แก้อุบลราชธานี‘ท่วม-แล้ง’เด็ดขาด

ย้อนหลังดูสถิติตั้งแต่ปี  2550 พบว่าเกิดนํ้าท่วมหนักถึง 8 ครั้งในรอบ 12 ปี โดยปี 2562 ปริมาณนํ้าในลำนํ้ามูลไหลผ่านอุบลราชธานี ไม่ได้มากกว่าในอดีตแต่มีความเสียหายมากกว่า เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพลำนํ้า หากไม่สามารถลดยอดนํ้าไหลผ่านได้ต้องเผชิญปัญหานํ้าท่วมอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้
    

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า กรมชลประทานเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับพิจารณาในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมด้วย
    

จากการศึกษาครอบคลุมพื้นที่บริหารจัดการนํ้า และพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ เช่น พื้นที่ลุ่มนํ้าชีตอนล่าง ลุ่มนํ้ามูลตอนล่าง ลำเซบาย ลำเซบกและลำโดมใหญ่ รวมถึงขอบเขตพื้นที่ดำเนินการ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่เกี่ยวข้องอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และร้อยเอ็ด
    

โดยการสร้างคลองผันนํ้ายาว 97 กิโลเมตร รับนํ้าจากบริเวณเขื่อนหัวนา อ.วารินชำราบ ลดยอดนํ้าในลำนํ้ามูลช่วงไหลผ่านชุมชนเมือง และระบายลงนํ้ามูลที่บริเวณท้ายแก่งสะพือ ผ่านทางห้วยกว้าง บ้านหนองเบ็น หมู่ที่ 1 ต.คันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
     คลองผันน้ำ97กิโลเมตร คู่ขนานลำน้ำมูล เบี่ยงปริมาณน้ำส่วนเกินเลี่ยงเมืองและชุมชนริมน้ำมูล

คลองผันนํ้าคู่ขนานลำนํ้ามูลนี้จะมีขนาดก้นคลองกว้าง 112 เมตร ลึก 9 เมตร มีอาคารประกอบคลองนํ้า และประตูระบายนํ้าเป็นระยะ
     
คลองผันนํ้านี้มีศักยภาพที่จะระบายนํ้าได้ถึง 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะลดพื้นที่นํ้าท่วมได้ 67,264.62 ไร่ในบริเวณเขต อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ และ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี สามารถลดความเสียหายจากอุทกภัยได้ ประมาณ 1,500 ล้านบาท/ปี
  องค์ประกอบคลองผันน้ำ    

คลองยักษ์‘ผันแม่นํ้ามูล’97กม. แก้อุบลราชธานี‘ท่วม-แล้ง’เด็ดขาด

ขั้นตอนหลังสรุปการศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในปี 2564 จากนั้นจะมีการสำรวจและออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้าง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี และในปี 2566 ตั้งงบประมาณ ซึ่งจะต้องใช้งบประ มาณในโครงการนี้ราว 4.5 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 7 ปี
    

ด้านนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยืนยันว่าไม่กระทบแก่งสะพือ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของจังหวัด เพราะคลองระบายนํ้าลงท้ายแก่งสะพือ พร้อมได้เสนอแนวคิดในการให้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งสองฝ่าย เปลี่ยนจากผล กระทบมาเป็นโอกาส โดยผันนํ้าลงเขื่อนสิรินธร เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานส่งเสริมการเกษตรได้เพิ่มขึ้น
    

ส่วนการชดเชยหรือเวนคืนเพื่อทำโครงการนี้ ตนเห็นว่าควรเน้นไปในรูปแบบสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เงินทองได้แล้วกินหมด แต่การสร้างงานสร้างอาชีพจะยั่งยืน มั่นคงตลอดไป โดยให้ชุมชนมาเป็นหุ้นส่วนโครงการสร้างแหล่งพัฒนาอาชีพ ชุมชนได้ประโยชน์ ได้พลังงานร่วมกัน โดยมีนํ้าเป็นต้นทุน เช่น การประมง การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมชุมชน
    

โครงการนี้จะสร้างความเจริญให้ชุมชนแน่นอน เมื่อมีคลองผันนํ้าที่มีถนนตามแนวสันคลองเพื่อการคมนาคมที่สะดวกขึ้น ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นโดยธรรมชาติ ความเจริญและระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ จะตามมา ซึ่งถนนทั้งสองฝั่งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการกรมชลประทานจะถ่ายโอนให้ อปท.ดูแลต่อไป
    

การแก้ปัญหาอุทกภัยเรื้อรังในเขตที่ลุ่มปากนํ้ามูล ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก เส้นใต้ในแนวโครงข่ายคมนาคมขนส่งจากกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-อีสานใต้-อุบลราชธานี เพื่อไปเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านประชาคมอาเชียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคต 

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

ชลธิษ จันทร์สิงห์/รายงาน


หน้า10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,706 วันที่ 19-21 สิงหาคม พ.ศ.2564