รู้จัก รถไฟฟ้าสายสีแดง ทำไม รถบนทางด่วนแข่งด้วยยาก

15 ส.ค. 2564 | 04:11 น.

ไขข้อข้องใจ รถไฟฟ้าสายสีแดงหรือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง สายสีแดง รางแค่ 1เมตร ทำไมรถบนทางด่วนแข่งด้วยยาก การออกแบบรางวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมงกันแน่

นับตั้งแต่วันที่2สิงหาคม 2564 รถไฟชานเมืองสายสีแดงหรือรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง บางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน  ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเดินรถให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีนาน2เดือนก่อนเก็บค่าโดยสาร ขณะหลายฝ่ายตั้งคำถามตามมามากมายภายหลังทดลองใช้บริการว่ารางมีขนาดเล็ก 1เมตร ต่างจาก รถไฟฟ้าทั่วไป ความเร็วและความปลอดภัยอาจไม่เท่าเทียมเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นที่เปิดให้บริการ ในปัจจุบัน หรือบางรายบอกว่า ขณะเดินรถมีเสียงดังรบกวนค่อนข้างมาก

 

  เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ขอ เปิด   เรื่องราวของ “หนูแดง” หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ข้อเท็จจริง เริ่มจากสายสีแดง เป็นรถ รถไฟขนาดราง 1 เมตร ที่เร็วที่สุดในไทย ใช้ความเร็วสูงสุด (ให้บริการจริง) ถึง 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง และออกแบบรองรับความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยความเร็วหากเทียบกับ รถบนทางด่วนรับรองว่าแข่งด้วยยากเพราะหากรถไฟฟ้าสายสีแดงเกิดซิ่งขึ้นมา เรียกว่า ความเร็วรถบนทางด่วน เร่งเครื่องไม่ทันแน่นอน

หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่า หนูแดง หรือสายสีแดง  ทำความเร็วสูงสุดที่ให้บริการจริงได้ถึง 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในทางระดับดิน ช่วงสถานี ดอนเมือง-หลักหก นับได้ว่าเป็นรถไฟบนขนาดราง 1 เมตร ที่เร็วที่สุดในปัจจุบัน

ไม่เพียงแค่นั้น เส้นทางในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงนอกเมืองถูกออกแบบมาให้รองรับความเร็วสูงสุดถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และขอย้ำอีกครั้งนึงว่า ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตรนั้น ไม่ได้เป็นทางรถไฟที่ล้าสมัยและทำความเร็วได้ต่ำตามที่หลายๆคนเข้าใจแต่มีความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งโดยทั่วไปจะลดความเร็วสูงสุดในการให้บริการลงประมาณ 10% ซึ่งจะให้บริการอยู่ประมาณ 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สามารถดูตัวอย่างการให้บริการรถไฟขนาดราง 1 เมตร ที่ความเร็ว 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้จากมาเลเซียเพื่อนบ้านเรา ซึ่งปรับปรุงทางรถไฟฟ้าระหว่างเมือง (ETS) มาจ่อเราอยู่ที่สถานีปาดังเบซาร์

หนูแดงหรือรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ทำความเร็วไปไม่น้อยไปว่า ETS ของมาเลเซียเลย ซึ่งให้บริการอยู่ที่ 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เป็นในช่วงสั้นๆ ช่วงนอกเมือง คือช่วง ดอนเมือง-หลังหก

เพื่อเป็นตัวอย่าง และพิสูจน์ความสามารถของทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร ที่เราพัฒนาในทางรถไฟทางคู่ ที่กำลังสร้างอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

ในอนาคต หาก รฟท. ของเรามีการขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงออกไปชานเมือง เช่น อยุธยา, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา และมหาชัย ตามแผนการพัฒนา  คงจะได้เห็นหนูแดง(สายสีแดง) อัดมิดไมล์ ร่อนไปทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มากกว่านี้อีกมากอย่างแน่นอน