"กนอ." คงค่าเช่าที่ดินนิคมอุตสากรรมพื้นที่ Rubber City ต่อ1 ปี

12 ส.ค. 2564 | 05:47 น.

บอร์ด กนอ.เห็นชอบคงอัตราค่าเช่าให้ผู้ประกอบการที่เช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา พื้นที่ Rubber City ออกไปอีก 1 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.(บอร์ด กนอ.) ได้มีมติเห็นชอบการคงอัตราราคาขาย และค่าเช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในส่วนพื้นที่ระยะที่ 2/2 และระยะที่ 3 (พื้นที่ Rubber City) ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการตลาดและการขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ เป็นการลดภาระในระยะแรกของการลงทุน รวมถึงยังตอบสนองนโยบายรัฐบาล โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
“การคงอัตราราคาขายและให้เช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในส่วนของพื้นที่นิคมฯ ยางพารา (Rubber City) เป็นการปรับจากอัตราเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 และใช้เรื่อยมาจนครบกำหนดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งปกติแล้วจะต้องกำหนดราคาขายและค่าเช่าที่ดินใหม่โดยใช้เกณฑ์การคำนวณจากต้นทุนการดำเนินงานและภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กนอ.ได้พิจารณาแล้วว่า เพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ให้เกิดปัญหาในการประกอบกิจการอันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานและการดำเนินธุรกิจ จึงเห็นควรคงอัตราราคาขายและราคาค่าเช่าที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวต่อไปเป็นระยะเวลา 1 ปี”

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.พัฒนาและบริหารจัดการเอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ 2,225 ไร่

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.

โดยในปี 2559 กนอ.ได้พัฒนาพื้นที่นิคมฯยางพารา (Rubber City) ในพื้นที่ระยะที่ 2/2 และระยะที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 1,218 ไร่ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลายน้ำ และขั้นกลางน้ำ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยเป็นพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม 629 ไร่ และพื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว ประมาณ 588 ไร่ ปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการแล้ว 7 ราย โดย กนอ.พยายามหามาตรการในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับนิคมฯ ในพื้นที่ภาคใต้ และคาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนในเร็ววัน
“นิคมฯ ยางพารา เป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีความได้เปรียบในทำเลที่ตั้งในจังหวัดสงขลา ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่และการศึกษาที่สำคัญของภาคใต้ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตยางพาราและตลาดการค้ายางที่สำคัญของประเทศอีกด้วย”