เร่ง 3 เรื่องใหญ่รบโควิด ขีดเส้น 2 เดือนเอาไม่อยู่ ลามวิกฤติศรัทธารัฐบาล

31 ก.ค. 2564 | 02:46 น.

สถานการณ์เวลานี้ยอม รับว่าวิกฤติสุดๆไม่รู้ว่าอีกกี่ครอบครัวจะต้องสังเวยกับมหันต ภัยร้ายไวรัสโควิด-19 ประชาชนเริ่มทนไม่ไหวกับการสูญเสียครั้งนี้ หลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมากขึ้น รวมถึงภาคเอกชน

เร่ง 3 เรื่องใหญ่รบโควิด ขีดเส้น 2 เดือนเอาไม่อยู่ ลามวิกฤติศรัทธารัฐบาล

 

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดใจผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” แบบถามตรง ๆ ตอบชัด ๆ ถึงวิกฤติที่ลุกลามไปหลายคลัสเตอร์ในขณะนี้และเป็นห่วงว่าภายใน 2 เดือนนับจากนี้ หากรับมือไม่อยู่ประชาชนจะเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลมากขึ้น

 

คิดว่าหมดเวลาของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการบริหารประเทศหรือยัง :

ถ้าการระบาดรอบนี้ยังบริหารจัดการไม่ได้ภายใน 2 เดือนนี้  วิกฤติศรัทธาจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่รัฐบาลต้องพิจารณาค่ะ

 

รัฐบาลควรทำสิ่งใดก่อนโดยด่วน :

 สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำก่อนในเบื้องต้นมี 3 สิ่งแรกคือ  1.รบกับโควิด-19  โดยทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดการแพร่ระบาด จำกัดวงของการแพร่ระบาดลงเรื่อย ๆ จำกัดวงล้อมฆ่าเชื้อไวรัสเป็นโซน ๆ  ทั้งการระดมฉีดวัคซีน

 

การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น  ให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายแล้วเป็นอาสาสมัครมาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ ซึ่งกลุ่มที่รักษาหายแล้ว ยังมีภูมิต้านทานและเข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วยรวมถึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยการรักษา ตั้งแต่ Telemedicine, AI อ่านฟิล์ม X-Ray เป็นต้น

 

2.รบกับปัญหาเศรษฐกิจ  ต้องตั้งทีมเศรษฐกิจ เชิญภาคเอกชนที่มีความรู้ระดับมหภาคมาวางแผนระดมสมอง ระดมกำลัง ระดมทรัพยากร กู้วิกฤติประเทศ และ 3.สร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยให้กลับมา ทั้งกับคนในประเทศและเวทีโลก

 

เร่ง 3 เรื่องใหญ่รบโควิด ขีดเส้น 2 เดือนเอาไม่อยู่ ลามวิกฤติศรัทธารัฐบาล

 

 

รัฐบาลจัดสรรวัคซีนออกมาล่าช้า คิดว่าต้นตอปัญหามาจากอะไรบ้าง :

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยส่วนตัวคิดว่า เกิดจากการวางแผนผิดพลาด ไปยึดติดกับระบบราชการที่มีกฎระเบียบมากจนไม่รู้ว่าการจัดการกับวิกฤติระดับโลก ต้องใช้การตัดสินใจที่รวดเร็วและเด็ดขาด

 

ภายในไตรมาส 3-4 ถ้าวัคซีนยังฉีดไม่ครอบคลุมจะเกิดอะไรขึ้น :

จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เห็นชัดเจน 3 ส่วน ที่กระทบแน่ ๆ คือ 1.GDP ติดลบ เพราะจะกระทบถึงภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์เครื่องเดียวที่เหลืออยู่ ในกรณีที่คนงานในโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกไม่ได้รับวัคซีนและติดเชื้อจนต้องหยุดการผลิต 2.ท่องเที่ยวไม่ฟื้น กระทบถึงผู้ประกอบการและคนทำงานหลายล้านคน และ 3.ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs จะเข้าสู่ขั้นโคม่า

 

อย่างไรก็ตามการได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงต้องดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด  เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นแล้ว และมีคำสั่งซื้อ(order) เข้ามามาก ถ้าคนงานติดโควิดจนกระทบสายการผลิตจะเป็นการสูญเสียโอกาสในการนำเงินเข้าประเทศอย่างน่าเสียดาย  ในแง่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA มีมาตรการดูแลที่ค่อนข้างจะเข้มงวด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระวังเรื่องการติดเชื้อกันมาก

 

ในแง่เศรษฐกิจยังมองเห็นโอกาสด้านใดบ้าง :

 ในภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของต่างชาติในด้านยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอิเล็ก ทรอนิกส์ และในภาคโลจิสติกส์ ไทยยังเป็นเป้าหมายของการลงทุนระดับภูมิภาค

 

“ที่จริงประเทศไทยยังมีศักยภาพและยังดึงดูดการลงทุนของต่างชาติได้ แต่จะเติบโตได้มากกว่านี้หรือจะสร้างเศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้มากแค่ไหน ก็ต้องดูการทำงานของรัฐบาลว่าจะมีความสามารถมากแค่ไหน”

 

เร่ง 3 เรื่องใหญ่รบโควิด ขีดเส้น 2 เดือนเอาไม่อยู่ ลามวิกฤติศรัทธารัฐบาล

 

คิดว่าไทยจะเดินไปถึงจุดประชาชนติดเชื้อ-ล้มตายจนรับมือไม่ไหวหรือไม่ :

คงไม่ขนาดนั้น ตอนนี้ประชาชนก็ระวังตัวกันมาก

อยากวิงวอนขออะไรจากรัฐบาล :

 รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน จัดทีมบริหารงานที่มีความสามารถในการจัดการกับวิกฤติในทุกๆ ด้าน

 

ประเมินในปีนี้จะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 50% ของประชากรได้หรือไม่ :

ไม่คิดว่าจะทำได้ถึง 50%  ตอนนี้ภาคประชาชนคงต้องช่วยเหลือตัวเอง รักษาตัวเองให้รอดพ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและล่าช้าของภาครัฐ

 

 “ยอมรับว่ามันวิกฤติจริง ๆ คนล้มตายความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะตามมามากขึ้นและต้องขอใช้พื้นที่นี้ฝากขอบคุณและอนุโมทนาบุญกับทุก ๆ ท่านที่บริจาคอาหารปัจจัย สิ่งของ และอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในโรงพยาบาลสนามให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามสมุทรปราการ 5 (WHA) ด้วย ในท่ามกลางความมืดยังมีแสงสว่างจากธารนํ้าใจของทุก ๆ ท่านค่ะ”

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564