บีโอไอ จี้เร่งเครื่อง 5 เรื่องใหญ่ ดันไทยคงดาวเด่นแผนที่ลงทุนโลก

30 ก.ค. 2564 | 06:29 น.

โลกแข่งเดือดดึง FDI ช่วยฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด บีโอไอจี้รัฐเร่ง 5 เรื่องใหญ่ คงไทยดาวเด่นบนแผนที่ลงทุนโลก เผยครึ่งแรกญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สหรัฐฯ ยังไหลเข้าต่อเนื่อง ลุ้นทั้งปีไม่ต่ำ 5 แสนล้าน หอการค้าฯเผย “สุพัฒนพงษ์” จ่อชง ครม.อัดแพ็กเกจใหม่ ดึงเศรษฐีโลกปักฐาน

 

การลงทุนของภาคเอกชนทั้งจากในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเวลานี้ จากในปีที่ผ่านมายังอยู่ในอาการเครื่องสะดุด หลังสำลักพิษโควิดในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังเดินทางเข้ามาดูสถานที่และดูลู่ทางการลงทุนไม่สะดวก ทำให้การลงทุนทั้งในแง่จำนวนโครงการและเม็ดเงินลงทุนลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา (กราฟิกประกอบ) ขณะที่สถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรก และภาพรวมครึ่งแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้น

ลุ้นทั้งปีขอส่งเสริม 5 แสนล้าน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บีโอไอจะแถลงตัวเลขภาพรวมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่ 2 และภาพรวมครึ่งแรกของปีนี้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เบื้องต้นจากข้อมูลที่อยู่ระหว่างการรวบรวม การลงทุนในไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง มี FDI เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ มองว่ามาจากตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว และการส่งออกเติบโตสูง

 

ขณะที่เวลานี้มีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เข้ามาลงทุนในไทยแล้วกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านซัพพลายเชน จากไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว

 

“ขณะนี้ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่อีกหลายกลุ่มที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยครึ่งปีหลัง เช่นรถยนต์ไฟฟ้า Smart Electronic, Cloud Service รวมถึงกลุ่มธุรกิจ BCG จึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2564 จะมีคำขอรับการส่งเสริมไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

 

บีโอไอ จี้เร่งเครื่อง 5 เรื่องใหญ่ ดันไทยคงดาวเด่นแผนที่ลงทุนโลก

 

จี้เร่งเครื่อง 5 เรื่องใหญ่

อย่างไรก็ดีในการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี สิทธิประโยชน์ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด แต่เป็นปัจจัยอื่น ทั้งเรื่องคน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ ซัพพลายเชน กฎระเบียบ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และ FTA กับประเทศคู่ค้า ดังนั้นในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นดาวเด่นบนแผนที่การลงทุนของโลก ไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการใน 5 เรื่อง

 1.เตรียมบุคลากรให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น เช่น กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎระเบียบคนเข้าเมือง และขั้นตอนการขอใบอนุญาตธุรกิจต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงาน กพร. ร่วมกับบีโอไอ จัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบ One Stop ของใบอนุญาตต่างๆ

3.เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นไปตามแผน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การขยายท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด การสร้างเมืองการบินที่อู่ตะเภา รวมทั้งการพัฒนาเมืองอยู่อาศัยในรูปแบบ Smart City

 

4.เร่งเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดการค้า เพราะการมีประตูการค้าที่เปิดกว้าง และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก FTA จะมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุน ปัจจุบันไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนามมี FTA มากถึง 52 ประเทศ และ 5. สร้าง Supply Chain รองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อากาศยาน ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยต้องยกระดับผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้มีขีดความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนใหม่ได้

 

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

จ่อชง ครม.ดึงเศรษฐีโลก

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า ทิศทางการลงทุนของไทยและจากต่างประเทศปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มมากกว่าปี 2563 เพราะปีที่แล้วมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในช่วงแรกมาก แต่ปีนี้หลายประเทศฟื้นตัวแล้ว ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ทิศทางการส่งออกของไทยที่ขยายตัวสูง จะทำให้ปี 2564 การลงทุนของภาคเอกชนจะขยายตัวตาม ซึ่งในเวทีนายกรัฐมนตรีพบ 40 ซีอีโอ ได้มีข้อเสนอจากภาคเอกชนว่า ต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่ม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นฟูและเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน การจ้างงานจะได้กลับมา และเร่งลงทุนทั้งจากภาครัฐด้วย

 

 

 สำหรับเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพิ่มเติมนั้น ภาครัฐได้จัดตั้งทีมโดยรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้มีการหารือกับภาคเอกชนไทยและต่างประเทศในรายละเอียดไปหลายรอบ เพื่อปรับปรุงแก้ไขการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำธุรกิจ เช่น การปรับปรุงแก้ไขในเรื่องกฎระเบียบ กติกาให้คล่องตัวเพิ่มมากขึ้น การเข้ามาอยู่อาศัยในราชอาณาจักร เรื่องวีซ่า เรื่องการขออนุญาตทำงานการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย รวมทั้งระบบภาษีบางประเภท เพื่อดึงดูดให้มาลงทุนในไทย

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

“เบื้องต้นได้ออกแพ็กเกจมาให้ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพมาประเทศไทยทั้ง Wealthy Global Citizen (พลเมืองโลกที่มีรายได้ระดับสูงหรือระดับเศรษฐี), Wealthy Pensioner (ผู้รับบำนาญหรือคนวัยเกษียณที่มีความมั่งคั่งทางการเงิน), Work From Thailand Professional(ชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย หรือทำงานโดยใช้ไทยเป็นฐาน) และ High-Skilled Professional (มืออาชีพทักษะ-ความเชี่ยวชาญสูง) โดยทีมปฏิบัติการเชิงรุกจะนำข้อเสนอที่ได้เข้า ครม. ต่อไป”

 

จุดแข็งไทยยังมีเสน่ห์

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีจุดแข็งหลายด้าน เช่น ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นโลจิสติกส์ฮับของภูมิภาคอาเซียน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม และบุคลากรในภาคบริการที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐาน เช่น บริการร้านอาหาร โรงแรม สุขภาพ ซึ่งเป็นจุดที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ

 

สะท้อนจากการลงทุน FDI ในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ขอรับการส่งเสริมมูลค่า 61,979 ล้านบาท ขยายตัว 143% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนกลุ่ม Health Tech ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจสตาร์ตอัพ ขณะที่การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในอุตสาหกรรมการแพทย์ ไตรมาส 1 ปี 2564 ขยายตัวถึง 480% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีเม็ดเงินลงทุนถึง 18,430 ล้านบาทจากผลพวงโควิด

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3701  วันที่ 1-4 ส.ค. 2564