"ดีพร้อม" ดันเอสเอ็มอีไทยสู่คู่ค้าภาครัฐมูลค่ากว่า 1 ล้านล.

21 ก.ค. 2564 | 12:52 น.

ดีพร้อม ดันเอสเอ็มอีไทยและรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศสู่คู่ค้าภาครัฐมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ผ่านการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยในโครงการ MiT ของ ส.อ.ท. เพิ่มความเข้มแข็งสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านกลไกของการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการเร่งผลักดันกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้ารับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand (MiT) ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยได้สั่งการให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้เข้ารับรองกับทาง ส.อ.ท. ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ยังได้นำร่องเริ่มต้นใช้เกณฑ์การคัดเลือกเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจ้างของภาครัฐที่มีสินค้าตรงตามเงื่อนไข โดยผู้ประกอบการต้องผ่านการรับรองและได้รับตราสัญลักษณ์ MiT เรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง ยังได้กระจายนโยบายดังกล่าวไปยังศูนย์ภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ ในการประกาศใช้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศกฎกระทรวงการคลัง เรื่องกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเป็นคู่ค้ากับภาครัฐเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เริ่มจัดทำโครงการยกระดับผู้ประกอบการสินค้าไทยให้ดีพร้อม เพื่อพัฒนาเตรียมความพร้อมและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนไทย เข้าสู่การรับรอง Made in Thailand ควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพให้ธุรกิจมีศักยภาพยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกประเภท ทุกระดับ ให้ได้รับทราบและมีโอกาสเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ ผ่าน 3 ช่องทางที่สำคัญ ได้แก่ การรับรอง MiT โดย ส.อ.ท. การขึ้นทะเบียนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม Thai SME-GP ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการขึ้นบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Thai GPP ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดภายใต้ภาวะวิกฤตโควิด-19 (Covid-19) และนำทางผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าถึงช่องทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ามหาศาล

ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลให้การใช้จ่ายและกำลังซื้อของภาคเอกชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงเร่งขับเคลื่อนแนวคิดในการนำเงินส่วนงบประมาณของภาครัฐ หรือ Government Spending ที่มีมูลค่าราว 1.77 ล้านล้านบาทต่อปี ให้มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการประกาศใช้กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ที่ได้กำหนดให้พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ หรือ MiT พัสดุที่จัดทำขึ้นหรือจำหน่ายโดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Thai SME-GP และพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Thai GPP เป็นพัสดุที่หน่วยงานรัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง MiT
"จากนโยบายดังกล่าวจึงเกิดเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และส.อ.ท. ผลักดันการรับรอง MiT สำหรับผู้ประกอบการไทยให้มีโอกาสได้เป็นคู่ค้ากับภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโอกาสและประโยชน์ที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับจากการค้าขายกับภาครัฐ จึงมอบหมายให้ ดีพร้อม เร่งดำเนินการผลักดันผู้ประกอบการทั่วประเทศในเชิงรุก ทั้งการแนะนำ ประชาสัมพันธ์และส่งต่อผู้ประกอบการเข้าสู่การรับรอง MiT ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการผ่านการรับรอง MiT ไปแล้วกว่า 1,800 ราย จำนวนกว่า 10,000 รายสินค้า"